บทความให้กำลังใจ(มองเป็น ก็เห็นสุข)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ปี๊บของหลวงพ่อ วัดบ้านกร่าง
    พระเมธีธรรมสาร (ไสว ธมฺมสาโร) อดีตเจ้าคณะอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่ชาวบ้านแถบนั้นรู้จักในนามหลวงพ่อวัดบ้านกร่าง ตามชื่อวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสนั้น ได้ชื่อว่าเป็น “พระขลัง” แม้เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลที่ท่านสร้างจะมีอยู่ไม่มากก็ตาม

    แต่สาเหตุที่ชาวบ้านเคารพนับถือท่านกระทั่งทุกวันนี้ แม้ท่านจะมรณภาพไป ๒๐ ปีแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ความขลังของท่านอย่างเดียว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือศีลาจารวัตรอันงดงามและปฏิปทาที่ท่านประพฤติเป็นแบบอย่างโดยความเรียบง่าย มักน้อย และเสียสละ

    มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งยังความศรัทธาซาบซึ้งแก่ญาติโยมอย่างมากก็คือ ตอนที่มีการระดมเงินสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนหลังใหม่ของวัดบ้านกร่าง เนื่องจากทางการมีงบประมาณให้ไม่ถึงครึ่งของทุนที่จะใช้ก่อสร้าง จำเป็นต้องอาศัยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ท่านเห็นว่าพระจะต้องเป็นผู้นำในการเสียสละ

    วันหนึ่งท่านได้นัดหมายให้กรรมการวัดมาประชุมพร้อมกันที่กุฏิท่าน แล้วท่านก็ให้คนไปยกปี๊บ ๆ หนึ่งในห้องพระของท่านลงมา ปรากฏว่าปี๊บนั้นมีซองใส่เงินอัดแน่นอยู่เต็ม ท่านบอกว่าตั้งแต่ท่านมาอยู่วัดบ้านกร่าง เงินที่มีผู้ถวายแก่ท่าน ส่วนหนึ่งใช้ไปตามควรแก่สมณวิสัย อีกส่วนก็ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างเมรุเผาศพ และวิหาร ส่วนที่เหลือทั้งหมดอยู่ในปี๊บนี้ ท่านขอให้กรรมการวัดเอาออกมานับรวมกัน ได้เท่าไรบริจาคสร้างโรงเรียนทั้งหมด

    เมื่อกรรมการวัดเอาซองเงินออกมา ก็พบว่าซองยิ่งอยู่ลึก ก็ยิ่งเก่าจนกระดษาเหลือง แสดงว่าปัจจัยที่ญาติโยมถวายท่านในโอกาสต่าง ๆ นั้น ท่านไม่ได้เปิดดู และไม่สนใจว่าเป็นเงินมากน้อยเท่าใด ได้มาก็ใส่ปี๊บเอาไว้ เมื่อจำเป็นก็ใช้ไป ส่วนที่เหลือก็อยู่อย่างนั้น ญาติโยมจึงศรัทธาท่านขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยประจักษ์แก่สายตาว่าท่านไม่ติดในปัจจัยที่ได้รับ

    นอกจากท่านจะไม่ยึดติดในลาภแล้ว กับผู้มีเงินท่านก็ไม่ได้มีฉันทาคติด้วย ตอนที่มีการสร้างห้องแถวในตลาดนั้น ทางวัดให้เจ้าของแต่ละคนลงทุนและดำเนินการก่อสร้างกันเอง วัดเพียงให้เช่าที่ดินในราคาถูก (คูหาละ ๖๐ บาทต่อปี ปัจจุบันเพิ่มปีละ ๑๐๐ บาท) แต่มีปัญหาคือคนส่วนมากอยากได้ห้องหัวมุม เพราะอยู่ใกล้ท่ารถท่าเรือ เป็นทำเลดีเหมาะแก่การค้าขาย

    มีคหบดีบางคนเสนอท่านว่า พวกเขาขอสิทธิ์พิเศษเลือกเอาห้องหัวมุมดังกล่าว โดยจะสร้างถวายวัดคนละห้องเป็นการตอบแทน หลวงพ่อไม่ยอม เพราะเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้อื่น ยิ่งกว่านั้นก็คือวัดจะกลายเป็นผู้รับสินบน เห็นแก่ผลประโยชน์ แม้จะมิใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม

    วิธีของท่านคือให้ทุกคนจับฉลาก ใครได้พื้นที่ตรงไหนก็สร้างห้องของตนตรงนั้น ทีแรกคหบดีเหล่านั้นไม่พอใจ ถึงกับจะยกเลิกการสร้างห้องของพวกตน โดยคิดว่าถ้ารวมหัวถอนตัวกันไปหลายคน โครงการสร้างห้องแถวก็อาจต้องล้มเลิก แต่หลวงพ่อไม่ได้วิตกอะไร ใครจะสร้างหรือไม่ท่านไม่ว่า ในที่สุดตลาดก็สร้างสำเร็จ ส่วนพวกคหบดีเหล่านั้นต้องยอมแพ้ ยอมจับสลากห้องแถวของตนเหมือนคนอื่น ๆ
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    จะใช้ชีวิตอย่างไรให้เป็นสุขในช่วงปีใหม่และทุกๆ วัน
    พระไพศาล วิสาโล
    ยุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ คำนี้มีความหมายหลายแง่ แต่แง่หนึ่งก็คือการไหลบ่าของบริโภคนิยม ทำให้ผู้คนมุ่งการมี การเสพ การครอบครองวัตถุเยอะๆ ทำให้ผู้คนคิดถึงแต่ตัวเองมากขึ้น ตอนนี้อาตมาคิดว่าสังคมไทยมีปัญหาหลักๆ ๔ ประการ คือ

    ประการที่หนึ่ง ผู้คนคิดถึงตัวเองมากกว่าผู้อื่น เอาประโยชน์ส่วนตัวหรือเอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจส่วนรวม ไม่สนใจสังคม หรือไม่สนใจแม้กระทั่งครอบครัวด้วยซ้ำ

    ประการที่สอง ติดยึดหรือหวังพึ่งพิงทางวัตถุ เข้าใจว่าความสุขจะได้มาก็จากการเสพวัตถุ จึงคิดแต่จะครอบครองหรือว่าเสพวัตถุให้ได้มากที่สุด เพราะคิดว่าวัตถุเท่านั้นที่เป็นที่มาประการเดียวของความสุข

    ประการที่สาม หวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด เดี๋ยวนี้เรามักบ่นกันว่าทำไมคนไทยชอบเล่นการพนัน ชอบโกง คอรัปชั่น หรือว่าหลงใหลไสยศาสตร์ อันนี้เป็นเพราะว่าเราหวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด จึงติดการพนัน ติดหวย ติดลอตเตอรี่ นักเรียนก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้คะแนนดีโดยไม่เหนื่อย เพราะฉะนั้นการลอกข้อสอบ การโกงข้อสอบเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่สนใจเรียนแต่ขอเกรดครู ส่วนคนที่อยากรวยก็เล่นการพนันซื้อหวยหรือพึ่งพาวัตถุมงคล ไม่สนใจทำมาหากิน

    ประการที่สี่คือ การคิดไม่เป็น ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เอาความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง

    ถามว่าทำอย่างไรสังคมจะมีความสุข ผู้คนมีความสุข ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติสี่ประการ
    คือประการที่หนึ่ง นึกถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ประการที่สอง สองสามารถเข้าถึงความสุขโดยไม่อิงวัตถุ ความสุขที่ไม่อิงวัตถุหมายถึงความสุขที่ได้จากการทำความดี ความสุขจากการที่ได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น ความสุขจากการที่ได้ทำสิ่งที่ยากให้สำเร็จได้ ความสุขจากสมาธิภาวนา อันนี้คือความสุขที่ไม่อิงวัตถุ

    ประการที่สามพึ่งความเพียรของตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้องใช้ความเพียรของตัวเอง คนไทยเราถ้ามีความเพียรเป็นที่พึ่งเราจะประสบความสำเร็จทั้งในชีวิต การทำงานและส่วนรวม คนเราถ้ามีความเพียรเป็นที่พึ่ง ก็จะสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เน้นเรื่องความเพียรมาก อาตมาคิดว่าทุกศาสนาก็เน้นตรงนี้คือเอาความเพียรเป็นที่พึ่ง

    ประการที่สี่ คิดดี คิดเป็น เห็นชอบ ก็คือรู้จักคิดอย่างฉลาด ไม่มองแต่แง่ลบ มองแง่บวกด้วย เจอปัญหาก็ไม่ท้อ เพราะมองเห็นว่าปัญหาทั้งหลายมีข้อดีอย่างไรบ้าง ถูกวิจารณ์แทนที่จะโกรธก็มองว่า สิ่งที่เขาพูดมามีข้อดี ถูกต้องอย่างไรบ้าง แม้แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราสามารถจะหาประโยชน์จากความเจ็บป่วยได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ป่วยทุกทีก็ต้องฉลาดทุกที เพราะความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด มาเตือนให้เราตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต เตือนให้เราไม่ประมาท และทำให้เราเห็นว่าความสุขที่จริงมันง่ายนิดเดียว เพียงแค่เราไม่ป่วยเราก็มีความสุขแล้ว แต่คนไม่ได้คิดอย่างนี้ ตอนที่มีสุขภาพดีก็อยากได้นู่นอยากได้นี่ แต่พอเจ็บป่วยขึ้นมาจึงรู้ว่า ความสุขนี้มันง่ายนิดเดียว เพียงแค่เราไม่ป่วย เพียงแค่สุขภาพปกติเราก็มีความสุขแล้ว

    อาตมาคิดว่าถ้าคนไทยมีธรรมะสี่ประการนี้ ไม่ว่านับถือศาสนาใด ก็จะมีความสุขได้ง่าย เจอความทุกข์ เจอความลำบากก็ไม่กลัว กล้าสู้สิ่งยาก เพราะรู้ว่าลำบากวันนี้ก็จะสบายวันหน้า และเมื่อมีความสุขแล้วเราก็จะมีกำลังในการทำความดี สร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม ถ้าคนไทยคิดอย่างนี้กันมากขึ้น สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่สงบสุข
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เดี๋ยวนี้เราไม่มีเวลาให้กันแม้กระทั่งในครอบครัว ไม่มีแม้แต่เวลาจะกินข้าวด้วยกัน หรือคุยด้วยกัน บางทีได้เวลากินข้าวก็ต้องโทรศัพท์เรียกให้ลงมากินข้าวหรือว่าส่งอีเมล์ไปหาลูก เพราะลูกเอาแต่เฝ้าอยู่หน้าจอ ส่งอีเมล์มาบอกว่าลูกลงมากินข้าวได้แล้ว เดี๋ยวนี้เรามีเวลาให้คนอื่น คนที่อยู่คนละทวีป คนละประเทศ แต่เราไม่มีเวลาให้แก่คนใกล้ชิด อันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไปหลงติดติดกับเทคโนโลยี พอเราไปลุ่มหลงกับเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ไอโฟน เฟซบุ๊ค เราเลยไม่มีเวลาให้คนที่อยู่ใกล้ชิด

    เราต้องเริ่มต้นจากการเห็นว่าความรัก ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในครอบครัวเป็นที่มาแห่งความสุข ให้เวลาแก่กันมากขึ้น อย่าไปหลงไหลเทคโนโลยีมากเกินไป อย่าไปเสียเวลากับเทคโนโลยีมากเกินไป แล้วก็ฟังกันให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ลูกฟังพ่อแม่เท่านั้น คือพ่อแม่อยากให้ลูกฟังพ่อแม่ แต่ว่าลูกจะฟังพ่อแม่ได้ พ่อแม่ต้องฟังลูกก่อน เดี๋ยวนี้มีปัญหาในครอบครัวมาก ว่าลูกไม่ฟังพ่อแม่ แต่อาตมาคิดว่าทั้งหมดนี้เกิดจากการที่พ่อแม่ไม่ค่อยฟังลูก ถ้าพ่อแม่ฟังลูก ลูกก็จะฟังพ่อแม่ ถ้าลูกฟังพ่อแม่ พ่อแม่ก็จะฟังลูกมากขึ้นเช่นกัน

    การฟังซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความเข้าใจเห็นอกเห็นใจกัน แล้วก็จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันได้มากขึ้น จะมีความรักความเห็นใจกันมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงในที่ทำงาน ในหมู่เพื่อนฝูง ในสังคม ถ้าเราฟังซึ่งกันและกันให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน การฟังซึ่งกันและกัน จะทำให้เราเคารพกัน เข้าใจกัน ตอนนี้เมืองไทยผู้คนไม่ค่อยฟังกัน ถ้าอยู่คนละกลุ่ม คนละสี คนละค่าย คนละพรรคก็ไม่ฟังกันแล้ว ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดอคติและในที่สุดก็สร้างภาพให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นตัวเลวร้าย ทำให้เกิดเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เกิดความเกลียดชังกัน การที่คนเราจะรักกันได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องคิดเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องใส่เสื้อสีเดียวกัน เพราะยุคโลกาภิวัตน์มันมีแต่ความแตกต่าง เราไม่สามารถทำให้คนคิดเหมือนกันได้ การที่คนเราจะรักกันได้ต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจฟังกัน และทำความเข้าใจกัน

    นอกจากเปิดใจฟังกันและกันแล้ว ก็ควรที่จะเปิดใจฟังความรู้สึกนึกคิดของตัวเองด้วย ถ้าเราฟังความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เราจะรู้ทันจิตใจของเรามากขึ้น เดี๋ยวนี้คนเรานอกจากไม่เป็นมิตรหรือรู้สึกแปลกแยกกับคนอื่นแล้ว เรายังไม่เป็นมิตรกับตัวเอง แปลกแยกกับตัวเองด้วย คนสมัยนี้บอกว่ารักตัวเอง แต่พอให้อยู่กับตัวเองก็อยู่ไม่ได้ ต้องไปนู่นต้องไปนี่ ทำตัวให้วุ่นกับงาน เที่ยวห้าง โทรศัพท์ถึงเพื่อน เพราะว่าอยู่กับตัวเองไม่ได้

    ทำไมอยู่กับตัวเองไม่ได้ ก็เพราะว่าทนตัวเองไม่ได้ มีความขัดแย้งกับตัวเอง อาตมาคิดว่าถ้าคนเราหันมาใส่ใจกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง คือมีสติรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เราจะเป็นมิตรกับตัวเองง่ายขึ้น เราจะเหงาน้อยลง เราจะแปลกแยกกับตัวเองน้อยลง แล้วเราสามารถจะอยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุข อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่กับผู้อื่นก็ราบรื่นกลมเกลียว ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นจากการที่เราเป็นมิตรกับตัวเองให้ได้

    ปีใหม่นี้ ใครๆ ก็อยากได้ของใหม่ อยากได้ชีวิตใหม่ แต่ชีวิตใหม่ไม่ได้เกิดจากการที่เรามีโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ มีรถคันใหม่ มีบ้านหลังใหม่ อันนั้นไม่ได้ทำให้มีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง จะมีชีวิตใหม่อย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเรามีคุณภาพจิตแบบใหม่ เริ่มต้นจากการเป็นมิตรกับตัวเอง รักตัวเองอย่างแท้จริง อยู่กับตัวเองได้ เมื่อเรามีความสุขในตัวเอง เราก็จะสามารถแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่นได้

    การอยู่กับตัวเองยังรวมไปถึงการอยู่กับปัจจุบันด้วย ปีใหม่จะให้ชีวิตใหม่อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเราทิ้งสิ่งเก่าๆ ไป นิสัยที่ไม่ดีเก่าๆ ก็วางหรือทิ้งเสีย อารมณ์เก่า ๆ ที่หมักหมมค้างคาในใจ รู้จักปล่อย รู้จักวางบ้าง ถ้ามันสะสมอยู่ในใจก็จะกลายเป็นพิษ เหมือนกับอาหารที่เรากิน ถ้าถ่ายไม่หมด มีสิ่งตกค้างหมักหมมมากๆ ก็จะเป็นพิษต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ อารมณ์ที่หมักหมมในจิตใจก็อาจทำให้ เกิดเป็นมะเร็งในจิตใจได้

    ปีใหม่ควรเป็นเวลาที่เราจะได้ปล่อยวาง หรือว่าขจัดปัดเป่าอารมณ์เก่าๆ ออกไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ ความท้อแท้ ความเกลียด อย่าเก็บความโกรธเอาไว้ อย่าเก็บความเกลียดเอาไว้ อย่าเก็บสะสมความเศร้าเอาไว้ ปีใหม่ทั้งทีก็ปลดเปลื้องออกไป การมีสติเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเรามีสติ สติจะช่วยขจัดปัดเป่าอารมณ์เก่าๆ ไป ไม่ให้หมักหมมในจิตใจ และทำให้ชีวิตใหม่อยู่เสมอ ตื่นขึ้นทุกวันจะไม่ใช่เป็นแค่เช้าวันใหม่แต่จะเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ ของชีวิตใหม่

    ทำทุกวันให้เป็นวันใหม่อยู่เสมอ แม้ว่าชีวิตประจำวันยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ต่างจากเมื่อวาน แต่ว่ามีความรู้สึกใหม่ มีความรู้สึกใหม่เพราะว่าเราวางความรู้สึกเก่าๆ ทำให้ใจเราโปร่งโล่ง ปลอดจากความเศร้า ความโกรธ ความเกลียด ความหม่นหมองในใจ เราจะเป็นมิตรกับตัวเองได้ ก็ต้องรู้จักปล่อยวางอารมณ์ที่เศร้าหมอง ละวางความโกรธ ความโลภ มีความเพียร ใส่ใจในการทำความดี ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะทำให้เรามีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง แม้ว่าเรายังมีรถคันเดิม มีบ้านหลังเดิม ใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิม แต่ถ้าเรามีคุณภาพจิตแบบใหม่แล้ว เราจะมีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง ทุกวันจะเป็นเวลาแห่งความสุข ทุกวันจะใหม่เสมอสำหรับเรา และทุกชั่วโมงก็จะใหม่เสมอเช่นเดียวกัน

    ขอให้ทุกท่านได้รับสิ่งนี้ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งประเสริฐ คำว่าพรแปลว่าสิ่งประเสริฐ สิ่งประเสริฐหรือสิริมงคลในพุทธศาสนา ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่คือธรรมะในจิตใจ ธรรมะในจิตใจไม่มีใครที่จะให้แก่เราได้ มีแต่เราต้องทำขึ้นมาเอง แต่ถ้าเราสามารถสร้างหรือทำขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นของขวัญอันประเสริฐที่สุด อยากให้เรามอบของขวัญอันประเสริฐนี้แก่ตัวเราเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาให้ ไม่ต้องรอพรจากพระสงฆ์องคเจ้า เราสามารถมอบของขวัญให้ตัวเอง สร้างสิ่งประเสริฐคือพรให้แก่ตัวเอง แล้วเราจะได้ชีวิตใหม่ ทำให้เป็นปีใหม่อย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/budPornPeMai56.html
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ความมั่นคงของชีวิต ความจริงที่ต้องรู้
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อพูดถึงความมั่นคงของชีวิต อันเป็นยอดปรารถนาของผู้คน ส่วนใหญ่แล้วมักนึกถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เพราะเมื่อมีเงินแล้ว สวัสดิภาพ ความปลอดภัย และความสะดวกสบายก็ตามมา ยังไม่ต้องพูดถึงบริษัทบริวารที่ห้อมล้อม แต่ทั้งหมดนี้จะมีความหมายอะไร หากชีวิตไม่มีความสุข ปราศจากความรักและความอบอุ่นจากครอบครัวและมิตรสหาย ถึงจะมีพวกแต่ไร้เพื่อน จิตใจก็คงอ้างว้าง อดไม่ได้ที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวในยามที่อยู่คนเดียว ยิ่งเงินที่มีอยู่นั้น มิได้มาด้วยวิธีการที่ชอบธรรม ก็ย่อมเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ

    ในขณะที่ผู้คนพากันแสวงหาความมั่นคงของชีวิตนั้น สิ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ ความมั่นคงของจิตใจ แม้จะมีเงินมากมายมหาศาล แต่ถ้าจิตใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล หวาดกลัว รุ่มร้อน รู้สึกพร่อง ไม่รู้จักพอ ขาดความสุขสงบเย็น ก็ยากที่จะรู้สึกว่าชีวิตมีความมั่นคง

    ในสมัยพุทธกาลมีพระราชาองค์หนึ่งชื่อว่าพระเจ้าภัททิยะ เป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า ต่อมาได้ออกบวชเพราะทนการรบเร้าอ้อนวอนของเพื่อน(คือเจ้าชายอนุรุทธะ)ไม่ได้ เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้เป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าท่านอยู่ที่ใด ในป่าหรือใต้ร่มไม้ ท่านมักเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ”เป็นประจำ เพื่อนภิกษุได้ยินก็เข้าใจว่าท่านไม่ยินดีในการบวช จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงรับสั่งให้เรียกท่านมาแล้วถามเหตุผล พระภัททิยะจึงตอบว่า เมื่อครั้งเป็นฆราวาสครอบครองราชสมบัติ แม้มีทรัพย์และบริวารมาก มีคนคอยดูแลปกป้องรอบข้าง ก็ยังอดสะดุ้งจิตหวาดกลัวไม่ได้ แต่บัดนี้ไม่ว่าข้าพระองค์อยู่ที่ใดเพียงลำพัง ก็ไม่รู้สึกสะดุ้งกลัว มีแต่ความสุขในทุกหนแห่ง จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น

    สำหรับพระภัททิยะแล้ว แม้เป็นกษัตริย์ก็มิได้รู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตเลย สาเหตุก็เพราะจิตใจไม่มีความมั่นคงอย่างแท้จริง

    มีหลายสิ่งที่ทำให้คนเราไม่รู้สึกมั่นคงในจิตใจ สิ่งหนึ่งก็คือ ความกลัว ดังกรณีของพระภัททิยะ หลายคนอาจไม่ได้กลัวอันตราย แต่กลัวการสูญเสีย อาทิ การสูญเสียทรัพย์ เป็นธรรมดาที่ว่า ยิ่งฝากชีวิตไว้กับทรัพย์สินเงินทองมากเท่าใด ก็ยิ่งกลัวการสูญเสียทรัพย์มากเท่านั้น นี้คือทุกข์ข้อแรกของคนมีทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่ทุกข์ประการต่อมา คือ ต้องเหน็ดเหนื่อยในการปกป้องรักษาทรัพย์ แม้ไม่เหนื่อยกายก็เหนื่อยใจ ยังไม่ต้องพูดถึงก่อนหน้านั้นที่ต้องดิ้นรนขวนขวายในการหาทรัพย์ ซึ่งแม้ประสบความสำเร็จ แต่ความสุขที่เกิดขึ้นก็ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานก็รู้สึกเฉย ๆ หรืออาจถึงกับเบื่อด้วยซ้ำ ทำให้อยากได้ของใหม่ (คนที่ดีใจเพราะได้iPhone 4S เมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ส่วนใหญ่คงไม่ปลื้มกับมันแล้วเพราะเห็นiPhone 5 วางตลาด)

    ดังนั้นนอกจากความกลัวแล้ว ความอยากได้ไม่รู้จบก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จิตใจไม่มั่นคง เพราะรู้สึกพร่องอยู่เสมอ คนที่คิดว่าคำตอบของชีวิตอยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง (รวมไปถึงอำนาจ) จะไม่เคยรู้สึกพึงพอใจในชีวิตเลย เพราะได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าแม้ได้อะไรมามากมาย แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปจากชีวิต

    เฟอร์ดินันด์ มาร์คอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งทรงอำนาจอย่างยิ่งเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ได้เปิดเผยความในใจในบันทึกของตนเมื่อครั้งที่ถึงจุดสูงสุดของชีวิต ว่า

    “ผมมีอำนาจมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ผมมีทุกอย่างที่เคยใฝ่ฝัน พูดให้ถูกต้องคือ ผมมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างเท่าที่ชีวิตต้องการ มีภรรยา ซึ่งเป็นที่รักและมีส่วนร่วมในทุกอย่างที่ผมทำ มีลูก ๆ ที่ฉลาดหลักแหลมและสืบทอดวงศ์ตระกูล มีชีวิตที่สุขสบาย ผมมีทุกอย่าง แต่กระนั้นผมก็ยังรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต”
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    สำหรับมาร์คอส ความมั่นคงของชีวิตที่ผู้คนเห็นจากภายนอกนั้น มีความหมายต่อเขาน้อยมากตราบใดที่เขายังไม่รู้สึกพึงพอใจในชีวิต

    มาร์คอสกับพระภัททิยะนั้นเป็นภาพที่ตัดกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งมีทรัพย์และอำนาจล้นฟ้าแต่ไม่มีความสุข อีกคนไม่มีอะไรเลยนอกจากบาตรและจีวร แต่มีความสุขอย่างยิ่ง

    สิ่งที่ชีวิตของคนเราต้องการอย่างแท้จริงนั้น หาใช่ทรัพย์สินเงินทองไม่ แต่คือความสงบเย็นในจิตใจ พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าทรัพย์สินไม่สำคัญ ทรัพย์สินนั้นมีประโยชน์ตราบใดที่เรารู้จักใช้มัน ไม่ลุ่มหลงเพราะรู้ว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไร แต่หากลุ่มหลงมันแล้ว เราก็กลายเป็นทาสของมันทันที อีกทั้งมันจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เราเข้าถึงความสงบเย็นในจิตใจ อันเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขและความมั่นคงในจิตใจอย่างแท้จริง

    ความสงบเย็นในจิตใจนั้น เกิดจากการหมั่นทำความดี เริ่มด้วยการแบ่งปันทรัพย์สินแก่ผู้ที่ทุกข์ยากหรือผู้ที่ทำประโยชน์ส่วนรวม(ทาน) จากนั้นก็รักษากายและใจไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น รวมไปถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยกำลังกายและสติปัญญา (ศีล) ตามมาด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เป็นกุศล(ภาวนา) เช่น มีสติ สมาธิ และสันโดษ(ความรู้จักพอ) ที่สำคัญคือการบ่มเพาะใจให้เกิดปัญญา คือเห็นและเข้าใจความจริงของชีวิต

    ความจริงของชีวิตอย่างหนึ่งที่ควรตระหนัก และจะช่วยให้จิตใจมั่นคงอย่างยิ่ง นั่นคือความจริงที่ว่า ชีวิตนี้แท้จริงแล้วไม่มีความมั่นคงเลยแม้แต่น้อย เพราะทุกคนเมื่อเกิดมา นอกจากต้องแก่ ต้องป่วยแล้ว ยังหนีความตายไม่พ้น ชีวิตที่มีความตายเป็นจุดหมายโดยมีความเจ็บป่วย ความแก่อยู่ระหว่างทาง (ไม่นับความสูญเสียพลัดพรากที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน) จะเป็นสิ่งที่มั่นคงได้อย่างไร

    ไม่ว่ามีเงินมากมาย มีอำนาจล้นฟ้า ก็ไม่อาจป้องกันความแก่ ความเจ็บ และความตายได้ (ทำได้อย่างมากก็แค่ชะลอเท่านั้น) ใช่แต่เท่านั้น เงินทองและอำนาจก็ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่จิรัง ไม่มั่นคง แปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ในเมื่อตัวมันเองยังไม่มั่นคง มันจะไปค้ำยันชีวิตเราให้มั่นคงได้อย่างไร

    ใช่หรือไม่ว่า ความมั่นคงของชีวิตนั้นแท้จริงเป็นของชั่วคราว หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ มันเป็นมายาภาพ ที่เราหลงคิดว่าเป็นความจริง ตราบใดที่เรายังหลงในมายาภาพดังกล่าว เราจะไม่มีวันพบกับความสุขที่แท้จริงได้เลย ต่อเมื่อเราเห็นความจริงว่าไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้หรือมั่นคงอย่างแท้จริงเลย เราจึงจะพบกับความสงบเย็น เพราะจิตไม่ลุ่มหลงยึดติดกับสิ่งใด ๆ อีกต่อไป ไม่ว่ามีอะไร ก็รู้ว่าสักวันหนึ่งมันย่อม “หมด” ไป ดังนั้นเมื่อวันนั้นมาถึง จึงไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศก เสียใจ หรือโกรธแค้น จิตใจยังคงเป็นปกติ มั่นคง ไม่หวั่นไหว

    โลกและชีวิตนี้เต็มไปด้วยความผันผวนแปรปรวน เมื่อใดเราเปิดใจยอมรับและเห็นความจริงดังกล่าว ไม่ยึดหรืออยากให้ทุกอย่างเที่ยงแท้มั่นคงหรือเป็นไปตามใจเรา ความผันผวนนั้นจะไม่อาจทำให้เราทุกข์ได้ต่อไป ถ้าไม่อยากทุกข์ใจเพราะความผันผวนดังกล่าว ก็ควรพากเพียรสั่งสมความดีและฝึกใจให้เห็นความจริงดังกล่าว อย่ามัวแต่แสวงหาเงินทองหรือสะสมวัตถุจนมองข้ามสิ่งที่สำคัญและประเสริฐกว่าไปเลย

    :- https://visalo.org/article/budTisco.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    บุญและทานในไทย
    พระไพศาล วิสาโล
    ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมามีประเพณีอย่างใหม่ได้เกิดขึ้นในภาคเหนือ ได้แก่การทอดผ้าป่าข้าว ปกติแล้วการทอดผ้าป่าทั่วไป ผู้คนจะถวายเงินแล้วรวบรวมถวายพร้อม “ผ้าป่า” ให้แก่ทางวัดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น สร้างโบสถ์ วิหาร แต่สำหรับการทอดผ้าป่าข้าว ชาวบ้านจะร่วมกันบริจาคข้าว(และเงิน)เข้ากองผ้าป่า จุดหมายคือเพื่อเป็นการสนับสนุนกองทุนข้าวในหมู่บ้านที่นำผ้าป่าไปทอด กองทุนข้าวดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านที่ยากจนกู้ยืมโดยมีดอกเบี้ยต่ำ แต่บางปีที่เกิดความแห้งแล้ง กองทุนข้าวบางหมู่บ้านไม่มีข้าวเพียงพอที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน ดังนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นจึงพร้อมใจกันเข้ามาช่วย วิธีนี้ทำให้หลายหมู่บ้านที่ยากจนสามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีเงินเหลือสำหรับสนับสนุนกองทุนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน เช่น กองทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน และกองทุนอาหารกลางวัน

    การทอดผ้าป่านั้นเป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมมากในเมืองไทยเพราะถือว่าทำแล้วจะได้บุญมาก แต่ทอดผ้าป่าข้าวนั้นแปลกออกไปตรงที่ แม้จะทอดที่วัด แต่จุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาหมู่บ้านที่ชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นเมื่อวัดได้เงินผ้าป่าแล้ว ก็มีการทำพิธีมอบให้แก่ชาวบ้านอีกที วิธีนี้เท่ากับส่งเสริมบทบาทของวัดในการสงเคราะห์ชุมชน ซึ่งเป็นมาช้านาน(แต่เพิ่งสะดุดไปเมื่อไม่นานมานี้) ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือผู้ที่นำข้าวและเงินมาทอดนั้น มิใช่ใครที่ไหนหากได้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านข้างเคียงที่ต้องการช่วยเหลือหมู่บ้านที่ลำบากกว่า การทอดผ้าป่าข้าวจึงช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นเครือข่ายในระหว่างหมู่บ้านให้แน่นแฟ้นขึ้น เป็นการวางรากฐานสำหรับการทำงานพัฒนาชุมชนในระดับที่กว้างกว่าหมู่บ้าน นอกจากการค้ำจุนกองทุนข้าวที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว การทอดผ้าป่าข้าวซึ่งจัดขึ้นติดต่อกันเกือบทุกปียังมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนให้เกิดกองทุนข้าวใหม่ ๆ ในหลายหมู่บ้าน

    นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ประเพณีทำบุญให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาชุมชนและขจัดความยากจน ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมทัศนคติที่ว่าการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นก็ถือว่าเป็นบุญเช่นกัน


    มิใช่ว่าบุญจะต้องทำกับพระเท่านั้น อันที่จริงทัศนคตินี้ก็มีอยู่เดิมแล้วในภาคเหนือ ดังมีประเพณีที่เรียกว่า “ทานทอด” คือการนำวัตถุไปสงเคราะห์แก่คนยากไร้ โดยวางไว้ใกล้ที่อยู่ของเขา หลังจากนั้นจึงจุดประทัดเพื่อเป็นสัญญาณว่ามีคนเอาของมาให้ ถือว่าทำเช่นนี้ก็ได้บุญเช่นเดียวกับการทอดผ้าป่า

    อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่ประเพณีทานทอดได้หายไปแล้วเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เอง ทำให้การทำบุญมีความหมายเรียวและแคบลง เหลือเพียงแค่การให้ทานแก่พระเท่านั้น อันที่จริงในอดีตการให้ทานกับพระกับการสงเคราะห์ชุมชนนั้น ไม่เคยเป็นเรื่องที่แยกจากกัน การทอดผ้าป่าไม่ได้เกิดประโยชน์แก่วัดเท่านั้น หากยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน จานชามที่ถวายให้วัด ชาวบ้านก็มายืมไปใช้ในงานศพหรืองานแต่งงาน แต่มาระยะหลัง วัดกับบ้านเหินห่างจากกัน การทำบุญกับพระจึงไม่ค่อยได้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้าน

    ในปัจจุบันมีความพยายามจากหลายกระแสที่ประยุกต์ประเพณีการทำบุญให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เฉพาะประเพณีทอดผ้าป่า นอกจากทอดผ้าป่าข้าวแล้ว ก็มีทอดผ้าป่าหนังสือ หรือทอดผ้าป่าปัจจัย ๔ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีการพยายามคิดค้นกิจกรรมใหม่ ๆ โดยอิงแนวความคิดเกี่ยวกับบุญ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการประยุกต์แนวคิดเกี่ยวกับบุญให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งได้แก่ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เป็นการพัฒนามาจากแนวคิดเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการระดมเงินออมของชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านกู้ยืมกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งธนาคารหรือนายทุนเงินกู้ แต่สัจจะสะสมทรัพย์ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งโดยการเอาแนวคิดทางพุทธศาสนามาเป็นรากฐาน อาทิ หลักสัจจะ กล่าวคือสมาชิกทุกคนจะต้องถือสัจจะว่าจะนำเงินมาสะสมทุกเดือนไม่ขาด โดยจำนวนเงินต้องไม่น้อยหรือมากกว่าเดิม นอกจากนั้นยังนำเอาแนวคิดเรื่องบุญมาใช้ด้วย กล่าวคือให้ชาวบ้านตระหนักว่าการมาเป็นสมาชิกกลุ่มนั้นเป็นการทำบุญร่วมกัน เพราะเงินที่นำมาฝากนั้น คนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบปัญหา สามารถมากู้ยืมเอาไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนได้ เท่ากับว่าได้ช่วยสงเคราะห์เขา นี้คือการฟื้นฟูคุณธรรมดั้งเดิมขึ้นมาได้แก่การสงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในอดีตคุณธรรมข้อนี้มีเด่นชัดมากและแนบแน่นกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น การตั้งน้ำดื่มไว้หน้าบ้าน การให้ข้าวให้น้ำแก่คนแปลกหน้า สร้างศาลาที่พักแรมแก่คนเดินทาง ไปจนถึงการลงแขกเกี่ยวข้าว ปลูกเรือน หรือช่วยกันบูรณะถนนหนทาง สร้างศาลาท่าน้ำ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชาวบ้านถือว่าเป็นบุญด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งนั่นคือ มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งมีวิธีดำเนินการกับผู้ที่เอาเปรียบหมู่คณะ นอกจากมีระเบียบกฎเกณฑ์แล้วยังมีการสร้างสำนึกทางคุณธรรมควบคู่กันไปด้วย ขณะเดียวกันก็หันมาใช้วิธีระดมเงินแทนที่จะระดมแรงเหมือนก่อน ที่น่าสนใจก็คือความริเริ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจากพระสงฆ์รูปหนึ่งคือพระสุบิน ปณีตโต ซึ่งสามารถจัดตั้งกลุ่มแบบนี้ได้ร่วม ๓๐๐กลุ่มแล้วในหลายจังหวัด เฉพาะจังหวัดตราดซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่านมีกลุ่มเหล่านี้ในเกือบ ๒๐๐ หมู่บ้าน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัด


    ควรกล่าวย้ำว่าบุญหรือทานในอดีตนั้นมีความหมายที่กว้างมาก ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าว่า เมื่อท่านยังเด็ก โยมแม่จะสอนคาถาประจำใจเวลาทำนาว่า “นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน” บุญนั้นไม่จำกัดที่การทำกับผู้อยู่เหนือเรา เช่น พระสงฆ์เท่านั้น แม้ทำกับผู้ที่อยู่ระดับเดียวกับเรา เช่นผู้คนทั่วไป หรือที่อยู่ต่ำกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นคนรับใช้ หรือสิงสาราสัตว์ ก็ถือว่าเป็นบุญเช่นกัน ทั้งนี้โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการให้ทานหรือให้วัตถุสิ่งของเท่านั้น แม้แต่การเอื้อเฟื้อด้วยแรงกายหรือแรงปัญญา รวมถึงการชี้แนะชักชวนในทางที่ดีงาม ก็เป็นบุญเช่นกัน

    บุญในความหมายนี้แหละที่เป็นปัจจัยถักทอสังคมทุกสังคมให้ปรองดองกลมเกลียวและผาสุก อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมให้เข้มแข็งมั่นคง ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีความพยายามในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุญตามหลักพุทธศาสนา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาแ ละสังคมไทยเป็นกลุ่มหนึ่งที่รณรงค์ในเรื่องนี้อย่างแข็งขันในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา

    การรณรงค์ของกลุ่มนี้เริ่มต้นด้วยการจัดทำคู่มือทำบุญชื่อ “ฉลาดทำบุญ” ซึ่งแนะนำชาวพุทธไทยให้รู้จักวิธีการทำบุญ ๑๐ ประเภทตามหลักพุทธศาสนา นอกจากการชี้แนะวิธีการทำบุญแก่พระสงฆ์อย่างถูกต้อง ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบบริโภคนิยมแล้ว ยังได้เสนอวิธีทำบุญแบบใหม่โดยไม่จำกัดว่าต้องทำกับพระ เช่น การทำอาหารเลี้ยงเด็กกำพร้า การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนพิการ หรือจัดสันทนาการให้แก่เด็กในสถานสงเคราะห์ เยี่ยมคนชรา ปลูกป่า แจกหนังสือธรรมะ นอกจากนั้นยังเสนอวิธีการทำบุญในโอกาสสำคัญเช่น งานวันเกิด วันแต่งงาน งานทำบุญบ้าน เปิดสำนักงานใหม่ ตลอดจนงานศพ ทั้งหมดนี้มุ่งที่การสงเคราะห์ผู้ประสบทุกข์ และการเอื้อเฟื้อให้เกิดการพัฒนาจิตและปัญญา

    หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกต้อนรับเทศกาลเข้าพรรษาเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ทันทีที่หนังสือเล่มนี้ออกมาก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม จนต้องพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันมีการพิมพ์ซ้ำเกือบ ๔๐ ครั้ง รวมเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ เล่ม มีผู้คนนิยมซื้อไปแจกในงานต่าง ๆ โดยเฉพาะงานวันเกิดและงานศพ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำบุญที่คนเป็นอันมากไม่รู้มาก่อน การตอบรับอีกส่วนหนึ่งมาจากคนที่ไม่พอใจกับการทำบุญในปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยพิธีกรรมอันสิ้นเปลืองและไร้ประโยชน์ หาไม่ก็เน้นที่วัตถุเช่น การสร้างโบสถ์ วิหาร

    เมื่อปีที่แล้วเครือข่ายชาวพุทธได้จัดพิมพ์คู่มือทำบุญอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งเล่มเล็กกว่า และอ่านง่ายกว่า มีภาพประกอบสี่สี ชื่อว่า “๓๐ วิธีทำบุญเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคม” ท้ายเล่มยังได้แนะนำหน่วยงานที่พร้อมรองรับผู้ต้องการทำบุญ ทั้งโดยการบริจาคเงินและเป็นอาสาสมัคร รวมทั้งสถานที่ที่เปิดอบรมสมาธิภาวนา หนังสือดังกล่าววางขายตามปั๊มน้ำมันในกรุงเทพ ฯ ต้อนรับเทศกาลเข้าพรรษา ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน ต้องพิมพ์ใหม่ ๗ ครั้ง ยอดพิมพ์ร่วม ๒๐๐,๐๐๐ เล่ม อีกทั้งยังได้รับการตอบสนองจากสื่อมวลชนทุกประเภท ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ หนังสือทั้งสองเล่มยังเป็นที่ต้องการอยู่กระทั่งปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะได้เห็นและมีส่วนร่วมในการทำบุญอย่างใหม่ที่สร้างสรรค์ทั้งคุณภาพชีวิตและสังคม มิใช่สักแต่ว่าทำบุญไปตามประเพณีโดยหวังความมั่งมีศรีสุขในชาตินี้หรือสวรรค์ในชาติหน้าเท่านั้น

    หลังจากที่รณรงค์ในด้านแนวคิดมาพอสมควรแล้ว ในปีนี้ เครือข่ายชาวพุทธ ฯ มีแผนการที่จะยกระดับการรณรงค์ไปสู่ขั้นปฏิบัติการทางสังคม นั่นคือ การเชิญชวนให้คนไทยมาทำบุญช่วงเข้าพรรษาด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม โครงการนี้มีองค์กรต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายที่กว้างขึ้น โดยเลือกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเด็ก มาเป็นแกนกลางในการรณรงค์ ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่จะชักชวนมาเป็นอาสาสมัครได้แก่พนักงานตามบริษัทห้างร้านและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ โครงการนี้นอกจากจะสร้างสำนึกแก่ชาวพุทธไทยว่าการทำบุญมีความหมายมากกว่าการให้ทานหรือสละสิ่งของเท่านั้น ยังประสงค์ที่จะสร้างขบวนการอาสาสมัครที่ตั้งอยู่บนแนวคิดเกี่ยวกับบุญ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน ขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะฟื้นฟูแนวคิดเรื่องบุญเพื่อให้มีพลังในการสร้างสรรค์สังคมไทย มิใช่จำกัดตัวอยู่แต่ในวัดหรือในพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น

    แม้ว่าขบวนการทางสังคมที่มีบุญเป็นรากฐานจะยังไม่เข้มแข็ง แต่ในปัจจุบันได้มีปัจเจกบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ทำงานช่วยเหลือสังคมบนวิถีแห่งบุญ นอกจากสอนหนังสือ หรือช่วยเด็กยากจนแล้ว บางคนอุทิศตนให้แก่การปลูกต้นไม้บนพื้นดินว่างเปล่ารวมทั้งริมถนนรวมแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ล้านต้น สำหรับเขาแล้ว “การปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญที่ถูกต้องที่สุด มันยั่งยืนกว่า และช่วยเหลือทุกคนได้ชั่วลูกชั่วหลาน” ความพยายามตลอด ๑๕ ปีของเขามีส่วนสำคัญในการทำให้อำเภอที่เคยแห้งแล้งกันดารของบุรีรัมย์ กลับเขียวขจีด้วยต้นไม้นานาชนิด การปลูกและฟื้นฟูป่าเป็นการทำบุญที่นับวันจะมีผู้นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ บางแห่งได้พัฒนามาเป็นการบวชต้นไม้

    น่าสนใจที่ว่าแนวคิดเรื่องบุญได้ขยายไปสู่การช่วยเหลือระหว่างสัตว์กับสัตว์ มีเจ้าของสุนัขจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่นิยมนำสุนัขของตนไปให้เลือดเพื่อช่วยเหลือสุนัขตัวอื่น ๆ ที่จำต้องใช้เลือดสำหรับการผ่าตัด เมื่อถามถึงแรงจูงใจ หลายคนตอบว่า ต้องการให้สัตว์เลี้ยงของตนได้ทำบุญ บางคนเชื่อว่าบุญจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงของตนได้เกิดเป็นคนในชาติหน้า

    เมื่อพิจารณาจากบุญ ๑๐ ประเภทในพุทธศาสนาแล้ว จะเห็นว่าบุญนั้นเกื้อกูลต่อสุขภาวะทั้งทางกาย ความสัมพันธ์ จิต และปัญญา ซึ่งเป็นสุขภาวะทุกมิติที่มนุษย์ต้องการ ขณะเดียวกันบุญก็มิได้สร้างสรรค์เฉพาะคุณภาพชีวิตเท่านั้น หากยังเอื้อเฟื้อต่อคุณภาพสังคมด้วย ทุกครั้งที่ให้ทานอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยลดความเห็นแก่ตัว ฝึกตนเป็นผู้ให้ด้วยมิใช่เป็นแค่ผู้รับอย่างเดียว ยังช่วยให้สังคมเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน มีความสงบร่มเย็น บุญอีก ๙ ประเภทที่เหลือก็เช่นกันย่อมเกื้อกูลทั้งชีวิตและสังคมอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ แต่หากเข้าใจบุญอย่างผิด ๆ บุญก็ไม่ต่างจากยัญกรรมของพราหมณ์ หรือการแลกเปลี่ยนเพื่อหวังกำไรที่มากกว่า ตามคติทุนนิยม

    บุญที่แท้ในพุทธศาสนานั้นยังมีพลังสร้างสรรค์สังคมอยู่โดยเฉพาะในสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐานมาช้านาน แต่พลังนั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเข้าถึงแก่นแท้ของบุญแล้วนำมาประยุกต์กับชีวิตและสังคมได้อย่างสมสมัย
    :- https://visalo.org/article/budBoonandTan.htm


     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ถึงเวลากลั่นกรองผู้บวชได้แล้ว
    พระไพศาล วิสาโล
    ใกล้ถึงวันเข้าพรรษา วัดวาอารามต่าง ๆ จะคึกคักขึ้นมาก โดยเฉพาะวัดที่มีเจ้าอาวาสเป็นอุปัชฌาย์ เพราะผู้คนจะพากันมาบวชในช่วงนี้มาก น่าสังเกตว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยที่เพิ่งลางานมาได้หมาด ๆ และไม่เคยพบหน้าอุปัชฌาย์เลยด้วยซ้ำ ปรากฏการณ์ดังกล่าวในด้านหนึ่งบ่งชี้ว่าประเพณีการบวชของไทยยังไม่เสื่อมคลาย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าการบวชในปัจจุบันง่ายดายจนน่าเป็นห่วง เพราะใคร ๆ ก็สามารถบวชได้โดยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวแต่อย่างใด

    นั่นหมายความว่าคณะสงฆ์ไทยในเวลานี้ นอกจากจะขาดระบบกำกับและระบบกล่อมเกลาภิกษุเพื่อให้มีความประพฤติที่ถูกต้องดีงามแล้ว ยังขาดระบบกลั่นกรองผู้ที่จะมาบวชอีกด้วย

    กระบวนการบวชส่วนใหญ่ในเวลานี้มิได้มีอะไรมากไปกว่าพิธีอุปสมบท ซึ่งก็กลายเป็นพิธีกรรมไปแล้ว ใครที่สามารถกล่าวคำขานนาคได้และมีอัฏฐบริขารครบก็สามารถบวชพระได้ ร้ายกว่านั้นก็คือเดี๋ยวนี้บางแห่งหย่อนยานกระทั่งว่าแม้เมาจนท่องจำคำขานนาคไม่ได้เลย ก็ยังสามารถบวชเป็นพระได้ ด้วยเหตุนี้ใครต่อใครจึงสามารถเข้ามาเป็นพระให้คนกราบไหว้ได้ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เคยต้องปาราชิกหรือถูกจับสึกมาแล้ว

    อันที่จริงการกลั่นกรองผู้ที่จะมาบวชนั้นมีอยู่แล้วตามวินัยโดยอุปัชฌาย์เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้และเป็นผู้รับรองต่อคณะสงฆ์ ในสมัยก่อนอุปัชฌาย์มักรู้จักผู้ที่ขอบวช เพราะถ้าไม่ใช่คนบ้านเดียวกันก็เคยเห็นหน้ากันเนื่องจากอยู่ในละแวกเดียวกัน บางครั้งก็เป็นญาติกันด้วยซ้ำ หาไม่ก็เคยเป็นเด็กวัดมาก่อน จึงรู้จักอุปนิสัยใจคอดีว่าสมควรบวชให้หรือไม่ บางกรณีแม้จะไม่รู้จักเป็นส่วนตัว แต่ก็คุ้นเคยกับผู้ที่พามาบวช จึงเท่ากับมีผู้รับรองหรือค้ำประกันกลาย ๆ นอกเหนือจากการเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขอบวช

    แต่ทุกวันนี้อุปัชฌาย์แทบไม่ได้ทำหน้าที่กลั่นกรองผู้บวชอีกแล้ว เพราะนอกจากจะไม่รู้จักผู้ขอบวชเป็นส่วนตัวแล้ว ผู้ที่มาขอบวชปีหนึ่ง ๆ มีมากมายหลายคน ยิ่งในช่วงเข้าพรรษาด้วยแล้ว อาจมีเป็นร้อยที่รอบวชจนต้องเริ่มทำพิธีบวชกันตั้งแต่เช้าตรู่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีการควบคุมจำนวนอุปัชฌาย์ ในตำบลหนึ่งมีได้เพียงหนึ่งซึ่งก็คือเจ้าคณะตำบลซึ่งย่อมยากที่จะรู้จักผู้คนในพื้นที่ของตนได้อย่างทั่วถึง ยิ่งไปกว่านั้นอุปัชฌาย์ยังมีงานคณะสงฆ์มากมายในฐานะที่เป็นเจ้าคณะระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ตำบลไปจนถึงจังหวัด จึงมักไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบผู้ขอบวชได้ ดังนั้นจึงปรากฏว่าผู้ที่ไม่พร้อมจะเป็นพระสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกคณะสงฆ์ได้เป็นจำนวนมากและอย่างง่ายดาย

    สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มีผู้มาบวชเป็นจำนวนมากในปีหนึ่งๆนั้น ก็เนื่องจากการที่พระวินัยมิได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอบวชอย่างเข้มงวดมากนัก หากมิได้มีอันตรายิกธรรม (เช่น เป็นหนี้ เป็นโรคเรื้อน) ก็สามารถบวชได้ ประกอบกับการบวชพระในเมืองไทยไม่ได้ผูกพันไปจนตลอดชีวิต สามารถสึกเมื่อไรก็ได้ นอกจากนั้นเมืองไทยยังมีการบวชตามประเพณี เช่นบวชเมื่อครบอายุ บวชทดแทนบุญคุณ รวมทั้งบวชหน้าไฟ ที่สำคัญคือประเพณีบวชเรียนซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในชนบท ปัจจัยเหล่านี้นอกจากทำให้มีผู้มาขอบวชเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้วัดวาอารามต่าง ๆ ไม่เข้มงวดในการกลั่นกรองผู้มาบวช จึงบวชได้อย่างง่าย ๆ แม้จะบวชเพียง ๓ วันก็อนุญาต
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    คุณภาพของพระสงฆ์ในเมืองไทยจะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคณะสงฆ์มีการกลั่นกรองผู้ขอบวชให้รัดกุมกว่านี้ แต่การกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอบวชให้เข้มงวดขึ้น (เช่นกำหนดคุณวุฒิ ความรู้ หรือวัย) การสอบข้อเขียนหรือการอบรมให้มีความรู้ทางธรรมระดับหนึ่งก่อนจึงอนุญาตให้บวชได้ เหล่านี้อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนักสำหรับคณะสงฆ์ไทย เนื่องจากเหตุผลทางด้านประเพณีดังได้กล่าวแล้ว อีกทั้งยังเป็นเพราะว่าการบวชในพุทธศาสนานั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อการฝึกฝนพัฒนาตนเป็นหลักอยู่แล้ว (มิใช่เพื่อมาทำหน้าที่เผยแผ่หรือบำเพ็ญศาสนกิจเลยดังศาสนาอื่น) ดังนั้นจึงเปิดกว้างสำหรับทุกคนโดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ คุณวุฒิ และอายุ (แม้ไม่ถึง ๒๐ ปีก็ยังบวชเณรได้) และภูมิหลัง (เช่น เป็นโจรแต่พ้นคดีแล้ว) กระทั่งยังนับถือศาสนาอื่นอยู่ก็ยังมาบวชได้หากต้องการมาศึกษาตามหลักพุทธศาสนา

    วิธีหนึ่งที่จะช่วยในการกลั่นกรองได้ก็คือ การทดลองก่อนบวช โดยให้ผู้ประสงค์บวชมาอยู่วัดชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนบวช เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการครองเพศบรรพชิต โดยถือศีล ๕ หรือศีล ๘ พร้อมกับศึกษาให้มีความรู้เบื้องต้นในด้านธรรมและวินัย ทั้งปริยัติและปฏิบัติตามสมควร ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติวัฏฐากอุปัชฌาย์และพระในวัด เพื่อเรียนรู้และฝึกตนให้คุ้นเคยชีวิตพระไปพร้อม ๆ กับเปิดโอกาสให้อุปัชฌาย์ได้รู้จักอุปนิสัยของผู้ขอบวชมากขึ้น ผู้ที่มีความพร้อมก็สามารถบวชได้ในเวลาไม่นาน ส่วนผู้ที่ยังไม่พร้อม ก็จะต้องอยู่วัดนานขึ้นจนกว่าอุปัชฌาย์จะเห็นควรให้บวช วิธีนี้อย่างน้อยก็ทำให้ผู้ที่ไม่พร้อมบวช (เช่น ว่ายากสอนยาก ยังเลิกยาเสพติดไม่ได้) หรือมาบวชเพราะหวังลาภสักการะและความสะดวกสบายถูกกรองออกไปได้ในระดับหนึ่ง

    สำหรับวิธีนี้ ลำพังวัดของอุปัชฌาย์ย่อมไม่สามารถรองรับผู้มาทดลองอยู่ก่อนบวชได้หมด โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าพรรษา อีกทั้งอุปัชฌาย์ก็คงไม่มีเวลาอบรมและทำความรู้จักผู้ขอบวช ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือจัดหาวัดสัก ๒-๓ วัดในตำบลเพื่อเป็นที่รองรับผู้มาทดลองอยู่ก่อน เนื่องจากอุปัชฌาย์มักเป็นพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะ คือตั้งแต่เจ้าคณะตำบลขึ้นไป ดังนั้นจึงสามารถมอบหมายให้เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในเขตปกครองทำหน้าที่ดูแลผู้ที่จะมาบวชแทนท่าน รวมทั้งให้คำรับรองต่ออุปัชฌาย์ว่าผู้นั้นพร้อมที่จะบวชได้หรือไม่

    ลำพังคำสั่งของเจ้าคณะผู้ปกครองย่อมไม่สามารถบันดาลให้วัดใดวัดหนึ่งมีความพร้อมในการรองรับผู้ขอบวชได้ วัดดังกล่าวจะทำหน้าที่นี้ได้ต่อเมื่อได้รับความสนับสนุนจากเจ้าคณะโดยเฉพาะด้านบุคคลากรเพื่อให้การอบรมเบื้องต้นแก่ผู้ขอบวช ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการระดมพระที่มีความรู้ความสามารถในท้องที่ไปช่วยงานชั่วคราว โดยอาจมีการกำหนดหลักสูตรพื้นฐานเพื่อให้การอบรมทำได้สะดวกขึ้นและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

    ควรกล่าวด้วยว่าการกำหนดให้มีการทดลองอยู่วัดก่อนบวช เป็นระเบียบที่หลายวัดใช้อยู่ในปัจจุบันอาทิ วัดสายพระอาจารย์ชา สุภัทโท หรือสำนักของสมณะโพธิรักษ์ แม้จะไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนอกแวดวงแต่ก็ประสบความสำเร็จในการกลั่นกรองผู้บวช นอกจากนั้นยังมีวิธีการอีกหลายอย่างที่น่าเป็นแบบอย่างให้แก่คณะสงฆ์โดยรวมได้ เช่นการกำหนดขั้นตอนหรือสถานะต่าง ๆ ที่บุคคลจะต้องผ่านก่อนถึงจะได้รับอนุญาตให้อุปสมบทได้ อาทิ เป็นผ้าขาวถือศีล ๘ หากมีความพร้อมหลังจากอยู่ครบกำหนด (เช่น ๓ เดือน) ก็สามารถอุปสมบทได้เลย แต่ถ้ายังไม่พร้อม ก็ต้องเป็นผ้าขาวต่อไป หาไม่ก็เขยิบขึ้นไปเป็นเณร ต่อเมื่ออุปัชฌาย์อาจารย์เห็นว่ามีอุปนิสัยพร้อมแล้ว จึงเลื่อนขั้นเป็นพระ

    การกลั่นกรองผู้บวชเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับการกำกับและกล่อมเกลาพระ หากระบบกลั่นกรองไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงแล้ว ก็น่าสงสัยว่าจะแก้ไขอีกสองระบบได้อย่างไร
    :- https://visalo.org/article/matichon254401.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ความคิดที่อันตราย
    พระไพศาล วิสาโล
    ในการบรรยายคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าได้รับคำถามจากแพทย์หญิงท่านหนึ่งว่า หากผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต เธอควรทำอย่างไร เนื่องจากมีผู้เตือนว่า หากเธอช่วยเหลือเขา จะเป็นการแทรกแซงกรรมของเขา การกระทำของเธอนั้นแม้เป็นบุญ ก็เป็น “บุญสีดำ” ซึ่งจะเป็นผลร้ายต่อเธอ
    แม้ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินเรื่อง “บุญสีดำ”มาก่อน (คุ้นแต่คำว่า กรรมดำ กรรมขาว) แต่ไม่รู้สึกแปลกใจกับความเห็นดังกล่าว เนื่องจากระยะหลังได้ยินบ่อยขึ้น ก่อนหน้านี้ก็ได้ยินอาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งพูดว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นอาจทำให้ “เจ้ากรรมนายเวร”ของเขาไม่พอใจ และมาทำร้ายเราได้ เธอมีความเห็นว่า คนใกล้ตายนั้นกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นจึงควรปล่อยให้เขารับกรรมไป เธอคงหมายความต่อไปว่า หากเขายังไม่หมดบุญหมดกรรม ก็คงยังไม่ตายง่าย ๆ

    ความคิดที่ว่า คนใกล้ตายนั้นกำลังชดใช้กรรม ดังนั้นเราจึงควรปล่อยเขาไป (ตามบุญตามกรรม) ไม่ควรยื่นมือไปช่วยเหลือเขา เป็นความคิดที่อันตรายมาก เพราะถ้าเห็นด้วยกับความคิดนี้ ต่อไปเมื่อเห็นใครกำลังจมน้ำตาย เราก็ไม่ควรไปช่วยเขา เห็นคนประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน นอนรอความตาย ก็ไม่ควรพาเขาส่งโรงพยาบาล เห็นใครที่กำลังตายเพราะน้ำท่วมไฟไหม้ ก็ต้องปล่อยเขาไป ถือเสียว่าเป็นกรรมของสัตว์
    ถ้าคิดต่อไปตามตรรกะของความเชื่อดังกล่าว ก็หมายความว่า ใครที่กำลังประสบความทุกข์ยากเดือดร้อนแม้จะยังไม่ใกล้ตาย เราก็ไม่ควรช่วยเขา เพราะเขากำลังใช้กรรม(ที่อาจทำไว้ในอดีตชาติ) หากเห็นผู้หญิงกำลังถูกฉุดคร่าอนาจารหรือกระทำชำเรา ก็ควรนิ่งเฉยหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เห็นคนหิวโหย หรือประสบภัยพิบัติ ก็ต้องปล่อยเขาให้เขาเผชิญทุกข์ตามลำพัง ความคิดดังกล่าวถ้ามองให้สุดสาย ก็เห็นได้ไม่ยากว่า ถ้าคนไทยคิดแบบนี้กันหมด เมืองไทยก็เป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นดินแดนอนารยะสมบูรณ์แบบ เพราะผู้คนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไม่มีความเมตตาปรานีต่อกันเลย

    แม้จะไม่มีความรู้ทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะเรื่องกฎแห่งกรรมเลย ก็น่าจะเห็นได้ไม่ยากว่าความคิดดังกล่าวมีจุดอ่อนอย่างมาก ใครก็ตามที่มีความคิดดังกล่าว ลองนึกภาพว่าหากลูกสาว หรือน้องสาวของตน ถูกฉุดคร่าอนาจารหรือทำร้าย ถ้ามีคนเห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา คุณอยากให้คนเหล่านั้นนิ่งเฉยหรือไม่ และหากเขานิ่งดูดาย โดยให้เหตุผลว่า ลูกสาวหรือน้องสาวของคุณกำลังใช้กรรม จึงไม่อยากแทรกแซงกรรม คุณจะรู้สึกกับคนเหล่านั้นอย่างไร จะว่าไปแล้วไม่ต้องคิดให้ไกลตัว คนที่มีความคิดดังกล่าว หากเห็นลูกของตนกำลังถูกทำร้ายอยู่ต่อหน้า คุณจะอยู่นิ่งเฉยเพราะเห็นว่าลูกกำลังชดใช้กรรมหรือไม่

    ถ้าคุณไม่ยอมนิ่งเฉย อีกทั้งไม่อยากให้ใครนิ่งเฉยปล่อยให้ลูกของคุณถูกทำร้ายด้วยเหตุผล ดังกล่าว ควรหรือไม่ที่คุณจะนิ่งเฉยเวลาเห็นลูกของคนอื่นเดือดร้อนหรือกำลังจะตายด้วยเหตุผลเดียวกัน

    ความคิดดังกล่าวนอกจากจะทำให้ผู้คนไม่อยากเป็นพลเมืองดีแล้ว ยังทำให้คนไทยไม่อยากทำหน้าที่ของตนให้ถึงที่สุดด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่ช่วยชีวิตผู้อื่น เช่น หมอ พยาบาล ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหากความคิดเช่นนี้แพร่หลายในหมู่หมอและพยาบาล อะไรจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย (ที่จริงอาจต้องถามต่อไปว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับอาชีพหมอและพยาบาล เพราะในเมื่อเป็นอาชีพที่ต้อง “เสี่ยง”กับการถูกเจ้ากรรมนายเวรหรือ “บุญสีดำ”เล่นงาน จะมีอาชีพนี้ทำไม สู้ไปเป็นวิศวกร ทนายความ หรือนักร้องนักแสดงไม่ดีกว่าหรือ)
    ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความคิดดังกล่าวถูกขยายความให้ครอบคลุมไปถึงความพยายามทุกอย่างที่เป็นการช่วยชีวิตผู้คน แม้จะไม่ใช่การลงมือช่วยด้วยตัวเอง แต่เป็นการช่วยในเชิงนโยบาย ก็ถือว่าเป็นการแทรกแซงกรรม ที่ส่งผลให้ผู้ช่วยเหลือเดือดร้อนด้วย เมื่อสามปีที่แล้ว แพทย์ใหญ่ท่านหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก็มีการพูดกันในหมู่แพทย์จำนวนหนึ่งว่าเป็นเพราะท่านผลักดันนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคจนสำเร็จ ทำให้ผู้คนจำนวนมากรอดตาย เจ้ากรรมนายเวรของคนเหล่านั้นจึงหันมาทำร้ายท่านแทน
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ทุกวันนี้ “เจ้ากรรมนายเวร” เป็นสิ่งที่คนไทยสะพรึงกลัวกันมาก และถูกมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งความวิบัตินานาประการของผู้คน แต่ไม่เคยมียุคใดที่ฤทธานุภาพของเจ้ากรรมนายเวรจะขยายขอบเขตกว้างขวางอย่างทุกวันนี้ จนสามารถทำร้ายคนดีที่ช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีพฤติกรรมไม่ต่างจากเจ้าพ่อหรือนักเลงที่หากแก้แค้นศัตรูของตนไม่ได้ ก็หันมาเล่นงานคนที่ช่วยเหลือศัตรูของตน

    ความคิดแบบนี้จัดว่าเป็นของใหม่ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง และไม่สอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนา จริงอยู่พุทธศาสนาสอนว่า ความชั่วเมื่อได้ทำลงไป ย่อมส่งผลให้ประสบความทุกข์ร้อน หากทำร้ายใครก็ย่อมประสบผลร้ายในเวลาต่อมา ในชาดกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้เคยมีเวรมีกรรมหรือถูกกระทำในชาติก่อน แล้วมาแก้แค้นกันในชาติถัดมา นั่นคือที่มาของคำว่า เจ้ากรรมนายเวร แต่เจ้ากรรมนายเวรในแง่นี้มิใช่อำนาจมืดที่ทรงฤทธานุภาพและเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวพร้อมจะทำร้ายใครก็ตามที่ขัดขวางการแก้แค้นของตนอย่างที่เข้าใจในคนบางกลุ่มเวลานี้
    แนวคิดเรื่องเจ้ากรรมนายเวร หากเชื่อแล้วทำให้คนกลัวบาป ไม่กล้าเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเชื่อแล้วทำให้นิ่งดูดาย หรือไม่กล้าช่วยเหลือผู้ประสบทุกข์ ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่ง อีกทั้งยังขัดกับคำสอนทางพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องเมตตากรุณา และการทำความดี เพราะ “ทำดีย่อมได้ดี” หากทำความดี อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ได้รับผลตอบแทนคือประสบเคราะห์จากกรรมนั้น ก็เท่ากับขัดแย้งกับพุทธพจน์ที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

    การช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบความทุกข์ยากนั้น หาใช่การแทรกแซงกรรมหรือกฎแห่งกรรมไม่ เพราะถึงอย่างไรกฎแห่งกรรมก็ไม่มีใครสามารถแทรกแซงหรือขัดขวางได้อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอนตายตัว จริงอยู่ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัย แต่ก็ไม่สมควรที่เราจะเหมารวมว่า ใครก็ตามที่ประสบความทุกข์ร้อน นั่นเป็นเพราะเขาเคยทำความไม่ดีในอดีตชาติ ดังนั้นจึงต้องปล่อยให้เขารับกรรมไป ใครที่มีความเชื่อเช่นนั้น ก็แสดงว่ากำลังสมาทานลัทธินอกพุทธศาสนาที่ชื่อ “ลัทธิกรรมเก่า” (คือความเชื่อที่ว่า สิ่งใดก็ตามที่ประสบ ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน)
    คนไทยจำนวนมากสมาทานลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตเหตุวาท) โดยสำคัญผิดว่าเป็นคำสอนทางพุทธศาสนา ดังหลายคนเชื่อว่าความเจ็บป่วยนั้นเป็นผลแห่งกรรมในอดีตชาติ (ทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่าคนเราเจ็บป่วยด้วยหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพราะกรรมอย่างเดียว) แต่น่าแปลกก็ตรงที่ว่าคนที่มีความเชื่อแบบนี้ เวลาล้มป่วยแทนที่จะอยู่นิ่งเฉย กลับแสวงหาการรักษาพยาบาล หรือไม่ก็พยายามเยียวยาตนเอง โดยไม่คิดว่าเป็นการแทรกแซงกรรมแม้แต่น้อย แต่เหตุใดเวลาคนอื่นประสบความทุกข์ยาก จึงกลับวางเฉย ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการแทรกแซงกรรมของเขา

    เมื่อเห็นคนประสบความทุกข์ยาก ปุถุชนอย่างเราย่อมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขากำลังรับผลกรรมจากอดีตชาติหรือไม่ แต่ถึงรู้ก็สมควรที่เราจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ เพราะนั่นเป็นคุณธรรมและหน้าที่ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน มองอย่างเห็นแก่ตัว หากเราไม่ทำ นั่นก็แสดงว่าเรากำลังสร้างกรรมใหม่ที่เป็นอกุศลกรรมให้แก่ตนเอง ใครจะไปรู้ว่าในวันหน้าหากเราประสบเหตุร้ายแบบเดียวกัน คนอื่นอาจเมินเฉยอย่างเดียวกับที่เราเคยทำกับผู้อื่น หากเราไม่ปรารถนาให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา ก็ไม่ควรทำสิ่งเดียวกันนี้กับผู้อื่น
    จริงอยู่ผู้ประสบเภทภัยหรือผู้ป่วยใกล้ตาย อาจกำลังรับผลแห่งกรรมหนักที่เคยทำไว้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราควรจะนิ่งดูดาย แต่หากทำเต็มที่แล้ว ไม่สามารถเยียวยารักษาหรือช่วยเหลือได้ ก็ต้องทำใจปล่อยวาง ถึงตอนนั้นจะบอกว่าเป็นกรรมของเขา เราไม่อาจฝืนกรรมของเขาได้ ก็มิใช่เรื่องเสียหาย ดีกว่าที่จะวางเฉยแต่แรกโดยอ้างว่าเป็นกรรมของสัตว์

    พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเมตตากรุณา กฎแห่งกรรมคือความจริงที่พระพุทธองค์นำมาสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทำความดี หนีความชั่ว หมั่นสร้างบุญกุศล และเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น รวมทั้งฝึกฝนจิตใจเพื่อให้ลดละความเห็นแก่ตัว จนหลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน ทำให้มีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ที่น่าเป็นห่วงก็คือ นับวันกฎแห่งกรรมถูกใช้เพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว อยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไร้น้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ขณะที่บุญกุศลถูกตีความเพื่อส่งเสริมความโลภ (เช่น ทำบุญเพื่อให้ถูกหวยรวยพนัน หรือถวาย ๑๐๐ บาทแต่หวังรวยเป็นล้าน) มุ่งเอาเข้าตัวยิ่งกว่าจะเผื่อแผ่ผู้อื่น

    ทัศนคติดังกล่าวลุกลามไปจนถึงขั้นมีความเชื่อในคนบางกลุ่มว่า เราไม่ควรแผ่ส่วนบุญให้ใครมากนัก เพราะจะทำให้บุญของเราเหลือน้อยลง (คนที่คิดเช่นนี้ไม่เข้าใจแม้กระทั่งคำสอนพื้นฐานเรื่องบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ปัตติทานมัย หรือการทำบุญด้วยการการแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่น ซึ่งหมายความว่ายิ่งแผ่ส่วนบุญให้ผู้อื่น เราก็ยิ่งได้บุญมากขึ้น)

    สัตว์ที่กำลังรอถูกเชือด หากเราช่วยไถ่ชีวิตเขาออกมาได้ ย่อมถือว่าเป็นบุญฉันใด การช่วยเหลือผู้ใกล้ตายให้มีชีวิตรอด หรือจากไปอย่างสงบ ก็ถือว่าเป็นกุศลฉันนั้น ชาวพุทธไม่มีความคิดว่าการไถ่ชีวิตสัตว์เป็นการแทรกแซงกรรมฉันใด ก็ไม่ควรมองว่าการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์เป็นการขัดขวางกฎแห่งกรรมฉันนั้น
    :- https://visalo.org/article/matichon255311.htm
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    มุ่งไปสู่หนใด
    พระไพศาล วิสาโล
    คงมีน้อยคนที่รู้ว่าภูฐานเริ่มมีการพัฒนาประเทศพร้อม ๆ กับไทย คือ ปี ๒๕๐๔ โดยมีแผนห้าปีเช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่ไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการสร้างถนน เขื่อน และโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ท่ามกลางคำขวัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” ภูฐานกลับพัฒนาอย่างเชื่องช้า ในช่วงสิบปีแรกนั้นเน้นที่การสร้างถนน โรงเรียน และอาคารสำหรับหน่วยงานรัฐบาล เพราะก่อนหน้านั้นอย่าว่าแต่สนามบินเลย แม้แต่โรงพยาบาล บริการไปรษณีย์ โทรศัพท์ โรงเรียนประชาบาล ภูฐานไม่มีแม้แต่อย่างเดียว

    ก่อนยุคพัฒนา ภูฐานมีสภาพไม่ต่างจากเมืองไทยเมื่อ ๑๕๐ ปีก่อน แม้เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศ ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ไม่ใช่เพราะว่าทั้งประเทศเต็มไปด้วยป่าเขาอันทุรกันดาร อีกทั้งยังขาดทุนรอนและการช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเท่านั้น หากยังเป็นความตั้งใจของผู้ปกครองประเทศที่ต้องการให้การพัฒนาดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะตระหนักดีถึงผลเสียของการเปิดรับเทคโนโลยีและเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจจากภายนอกอย่างเต็มที่ นโยบายเปิดประตูแบบแง้ม ๆของภูฐานเห็นได้ชัดจากการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ คน


    หลังจากพัฒนาประเทศไปแล้วเกือบ ๓๐ ปี ภูฐานจึงเริ่มมีสถานีโทรทัศน์ประจำชาติเป็นครั้งแรก พร้อม ๆ กับการเปิดใช้อินเตอร์เน็ตและเคเบิลทีวี หลังจากนั้นอีก ๑๐ ปีจึงมีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๕ แม้จะห่างไกลจากประเทศไทยมากในแง่ความเจริญทางวัตถุ แต่ในด้านคุณภาพชีวิตของประชากรแล้ว ภูฐานล้ำหน้ากว่าไทยในหลายด้าน อาทิ ประชากรร้อยละ ๙๘ มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง แม้รายได้ของประชาชนจะอยู่ในระดับต่ำหากวัดเป็นตัวเงิน (ร้อยละ ๒๓ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นยากจน) แต่นั่นเป็นเพราะการซื้อขายมีไม่มาก ชาวบ้านสามารถผลิตปัจจัยสี่เลี้ยงตัวเองได้ คนอดอยากหรือยากไร้จึงมีน้อยมาก สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาคนภายนอกก็คือ บ้านเรือนของคนภูฐานที่แม้อยู่ในชนบทห่างไกลก็แต่ก็มีสภาพดีและมีขนาดใหญ่โต กระท่อมซอมซ่อนั้นเห็นได้น้อยมาก ส่วนในเมืองก็ไม่สู้มีคนขอทานหรือคนไร้บ้าน คนว่างงานซึ่งมีมากในประเทศพัฒนาทั้งหลาย กลับไม่เป็นปัญหาในภูฐานเลย กล่าวได้ว่าภูฐานไม่มีคนว่างงานเลยเพราะชนบทยังสมบูรณ์และที่ทำกินยังมีอีกมาก

    สภาพดังกล่าวตรงข้ามกับประเทศไทย หลังจากพัฒนามา ๕๐ ปี ปัญหาที่ดินได้ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤต ปัจจุบันมีเกษตรกรไร้ที่ทำกินกว่า ๘ แสนครัวเรือน เกือบ ๕ ล้านครอบครัวมีที่ทำกินไม่เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่มีที่ดินถึง ๓๐ ล้านไร่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ทำประโยชน์เพราะมีการซื้อตุนเพื่อเก็งกำไร ใช่แต่เท่านั้นการสูญเสียที่ดินยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัญหาหนี้สิน แม้คนไทยที่มีรายได้จัดว่ายากจนมีเพียงร้อยละ ๖ แต่เกือบทั้งประเทศมีปัญหาหนี้สิน (เฉลี่ยเกือบแสนบาทต่อครัวเรือน) โดยเฉพาะเกษตรกร มีหนี้สินเกือบ ๒ แสนบาทต่อราย แทบทุกปีต้องประสบกับการขาดทุนเพราะราคาพืชผลตกต่ำขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นไม่หยุด จำนวนไม่น้อยต้องทิ้งไร่นาไปเป็นกรรมกร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการล่มสลายของชนบท ในขณะที่ที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อยมากขึ้นทุกที (ประมาณว่าที่ดินร้อยละ ๙๐ อยู่ในมือคนเพียงร้อยละ ๑๐ เท่านั้น)

    ในขณะที่ประเทศไทยปล่อยให้มีการสูญเสียที่ดินอย่างอิสระเสรีนั้น ภูฐานกลับทำสิ่งตรงข้าม คือส่งเสริมให้ที่ดินกระจายสู่มือประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ในอดีตนั้นองค์กรสงฆ์มีที่ดินอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนมาก ที่ดินเหล่านั้นเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของวัด สิ่งที่รัฐบาลภูฐานทำก็คือ ให้องค์กรสงฆ์หันมารับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแทน ส่วนที่ดินขององค์กรสงฆ์ รัฐบาลก็ขอซื้อเพื่อเอาไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนซึ่งขาดแคลนที่ทำกิน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๒๕

    แม้ชีวิตในชนบทภูฐานจะไม่สะดวกสบาย เพราะถนนหนทางไม่สะดวก ไฟฟ้าก็ไม่ทั่วถึง แต่ชนบทภูฐานก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่มาก ครอบครัวอบอุ่น มีคนหลายรุ่นอยู่ด้วยกัน คนหนุ่มสาวไม่จำเป็นต้องไปหางานทำในเมือง เพราะที่ดินและงานการไม่ขาดแคลน ที่สำคัญคือธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก นั่นเป็นเพราะรัฐบาลมีนโยบายอนุรักษ์ธรรมชาติมาตั้งแต่แรก ภูฐานจึงมีพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ ๗๒ โดย ๑ ใน ๓ ได้รับการจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    ต้องถือว่าเป็นเพราะเห็นการณ์ไกลรัฐบาลจึงมีนโยบายเช่นนี้ ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ป่าไม้ถูกตัดอย่างมโหฬารตั้งแต่เริ่มพัฒนาประเทศ เพราะต้องการส่งไม้ไปขายต่างประเทศเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แม่น้ำลำคลองกลายเป็นที่รองรับมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมก็เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนแม้กระทั่งทุกวันนี้ธรรมชาติก็ยังถูกทำลายในนามของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลร้ายในระยะยาวต่อประชาชนอย่างไรบ้าง ไม่ใช่แต่เฉพาะชาวบ้านรอบชุมชนอุตสาหกรรมอย่างมาบตาพุดเท่านั้นที่มีสุขภาพย่ำแย่ หากชาวบ้านที่เคยพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติแวดล้อมเพื่อการยังชีพและการทำมาหากินก็เดือดร้อนถ้วนหน้า มิไยต้องเอ่ยถึงคนในเมืองที่ต้องกินอาหารที่เต็มไปด้วยสารพิษอันเป็นผลจากการใช้สารเคมีทางเกษตร ซึ่งเพิ่มปริมาณมากขึ้นเนื่องจากธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว


    นโยบายดังกล่าวแม้จะทำให้เงินไหลมาเทมาในเวลาอันสั้น แต่ได้สร้างปัญหาระยะยาวไว้มากมายหลายประการ ที่สำคัญคือการผลักภาระนานาประการให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ในขณะที่คนส่วนน้อยได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะเม็ดเงินที่กระจุกอยู่ในกลุ่มคนดังกล่าว ผลก็คือเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในชาติ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนถ่างกว้างขึ้น กล่าวคือคนร้อยละ ๒๐ ซึ่งเป็นกลุ่มรวยที่สุดมีรายได้มากกว่าคนกลุ่มจนที่สุดเกือบ ๑๓ เท่า และหากคำนวณจากทรัพย์สินครัวเรือนแล้ว ความแตกต่างก็ยิ่งชัดเจนขึ้น ประมาณว่าครัวเรือนร้อยละ ๒๐ ซึ่งรวยที่สุดมีสินทรัพย์มากกว่าครัวเรือนที่จนที่สุดถึง ๖๙ เท่า เมื่อมองจากค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำของรายได้แล้ว เมืองไทยอยู่ในระดับที่ไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกา เช่น ไนเจอร์ มาลี หรือแซมเบียมากนัก

    ภายในชั่วเวลา ๔๒ ปี คือนับแต่ปี ๒๕๐๘ ถึงปี ๒๕๕๐ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยได้เพิ่มขึ้นถึง ๒๕ เท่า แต่ความสุขนอกจากไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว กลับลดลงด้วยซ้ำ ดูจากสัดส่วนคนที่มีปัญหาทางจิตเพิ่มมากขึ้น (เมื่อปี ๒๕๕๒ พบว่าประชาชนอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ ๑๒ หรือประมาณ ๕ ล้านคน) และมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น (ปี ๒๕๓๖ คนไทยฆ่าตัวตาย ๒.๗ คนต่อประชากรแสนคน ๑๖ ปีต่อมา ตัวเลขเพิ่มเป็น ๕.๗ คนต่อประชากรแสนคน) ตรงกันข้ามกับภูฐานซึ่งมีปัญหาเหล่านี้น้อยมาก แม้ว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวจะไม่ถึงครึ่งของไทยก็ตาม แต่กล่าวได้ว่าคนภูฐานมีความสุขกว่ามาก เคยมีการทำดัชนีวัดความสุขของทุกประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าภูฐานมาเป็นที่ ๘ จาก ๑๗๘ ประเทศ

    ใครที่ได้ไปภูฐานย่อมอดประทับใจไม่ได้ในน้ำใจไมตรีของผู้คนที่นั่น ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสและไว้วางใจคนแปลกหน้า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็มีมากกว่า คดีอุกฉกรรจ์แทบไม่ปรากฏ ขณะที่การลักขโมยก็มีน้อยมากโดยเฉพาะในชนบท นักธุรกิจชาวตะวันตกผู้หนึ่งที่อยู่ในเมืองบุมทังกล่าวว่า เขาสามารถทิ้งเงินสด ๑ ล้านเหรียญไว้บนโต๊ะในสำนักงานได้โดยไม่มีใครแตะต้องเลย นักท่องเที่ยวต่างชาติล้วนรู้สึกแปลกใจเมื่อกลับมายังที่พักของตน แล้วพบว่ากุญแจห้องไม่ได้อยู่ที่โต๊ะรับรอง แต่เสียบคาไว้ที่ประตูห้องของตน ทั้งนี้เพราะพนักงานโรงแรมแน่ใจว่าจะไม่มีใครมาเปิดห้องนั้นนอกจากแขก

    สภาพเช่นนี้สูญหายไปจากเมืองไทยนานแล้ว อาชญากรรมและความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วไป อย่าว่าแต่ตามท้องถนนเลย แม้กระทั่งบ้านเรือนของตนก็หาใช่สถานที่ปลอดภัยอย่างสิ้นเชิงไม่ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข ระบุตรงกันว่าปัจจุบันนอกจากเด็กจำนวนมากถูกพ่อแม่ทอดทิ้งแล้ว ยังถูกทำร้ายจากในบ้านมากกว่านอกบ้าน ทั้งจากผู้เป็นพ่อแม่ คนรู้จัก ขณะเดียวกันภรรยาที่ถูกสามีทำร้ายก็กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

    เมืองไทยนับวันจะกลายเป็นเมืองแห่งความรุนแรงทุกขณะ เหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคมมิใช่อะไรอื่น หากคือส่วนขยายจากความรุนแรงในทุกระดับตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงอาชญากรรมบนท้องถนนที่สั่งสมมานาน เมื่อผนวกกับความเหลื่อมล้ำในสังคม ความคับแค้นใจทางการเมือง และอำนาจนิยมโดยรัฐ ความรุนแรงก็พร้อมจะระเบิดกลางเมืองจนทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่าย ๆ

    ใช่หรือไม่ว่านี้คือผลพวงของการพัฒนาที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรีบเร่ง ซึ่งนอกจากจะไม่คำนึงถึงมิติอื่น ๆ ที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตแล้ว ยังเป็นการพัฒนาที่ไร้ความเป็นธรรม เพราะมุ่งอำนวยประโยชน์แก่คนส่วนน้อย ลำเอียงต่อภาคอุตสาหกรรม บริการ และเมืองโดยผลักภาระให้แก่ภาคเกษตรกรรมและชนบท ทั้งหมดนี้แยกไม่ออกจากการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้ผลประโยชน์ถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ทำให้ทั้งประเทศตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและแตกแยกจนถึงขั้นวิกฤต

    ภูฐานและเมืองไทยเป็นตัวอย่างที่แตกต่างอย่างเด่นชัดระหว่างการพัฒนาที่เน้น “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” กับการพัฒนาที่เน้น “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” แม้หวังได้ยากที่เมืองไทยจะเปลี่ยนจุดหมายการพัฒนาไปเป็นความสุขมวลรวมประชาชาติ แต่ยังไม่สายที่เราจะหันมาเสริมสร้างดุลยภาพภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แทนที่จะมองแต่ข้างนอกเพื่อแข่งขันให้ทันหรือล้ำหน้าประเทศอื่นในทางเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะการเร่งรีบอย่างผิดทิศผิดทางนั้นในที่สุดอาจทำให้เมืองไทยไม่ต่างจากรถแข่งที่กำลังพุ่งสู่หุบเหวเบื้องหน้าก็ได้
    :- https://visalo.org/article/matichon255310.htm

     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เติมเต็มชีวิตในเวลาน้อยนิด
    พระไพศาล วิสาโล
    อาจารย์วิษณุเป็นคุรุชาวอินเดียที่มีลูกศิษย์ลูกหามาก วันหนึ่งอาจารย์เรียกศิษย์สองคนที่ใกล้ชิดมาหาแล้วพาไปยังห้องเปล่าสองห้อง ให้เงินคนละ ๑ รูปีแล้วสั่งว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ห้องเต็ม ไชยารีบวิ่งไปที่ตลาดทันทีและพยายามหาของที่สามารถซื้อมาใส่ห้องให้เต็มด้วยเงิน ๑ รูปี แต่หาเท่าไรก็ไม่เจอ เพราะ ๑ รูปีนั้นน้อยเกินไป สุดท้ายเขาก็คิดออก เขาไปหาคนเก็บขยะ ใช้เวลาเจรจาไม่นาน เขาก็ขนขยะกองใหญ่ไปใส่ในห้องของตนจนเต็มด้วยความภาคภูมิใจที่ทำงานสำเร็จ

    ส่วนจิตรนั้นเมื่อได้รับคำสั่งจากอาจารย์ ก็นั่งสมาธิ ทำจิตสงบอยู่ในห้องพักใหญ่ จากนั้นก็เดินไปที่ตลาด ซื้อไม้ขีดไฟ ธูป และประทีป เมื่อกลับมายังห้องของตน เขาก็จุดธูปและประทีป ไม่นานห้องก็อบอวลด้วยกลิ่นหอมและเต็มไปด้วยแสงสว่าง

    เมื่ออาจารย์วิษณุมาตรวจงานของลูกศิษย์ทั้งสอง เขาเบือนหน้าหนีทันทีที่ย่างเท้าเข้าห้องของไชยาเพราะกลิ่นเหม็นโชยมาอย่างแรงจากกองขยะ แต่อาจารย์กลับแย้มยิ้มเมื่อเดินเข้าไปในห้องของจิตร ซึ่งสว่างไสวและอบอวลด้วยกลิ่นมะลิและไม้จันทน์

    นิทานเรื่องนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความแตกต่างทางสติปัญญาของศิษย์ทั้งสองเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นมุมมองหรือทัศนคติที่แตกต่างกันด้วย ไชยานั้นให้ความสำคัญกับวัตถุหรือสิ่งที่จับต้องได้ เขาจึงนึกถึงแต่การหาวัตถุสิ่งของมาใส่ห้องให้เต็ม แต่ในเมื่อเงิน ๑ รูปีนั้นซื้ออะไรได้ไม่มาก เขาจึงลงเอยด้วยการซื้อกองขยะ กล่าวอีกนัยหนึ่งเขาวัดความสำเร็จด้วยปริมาณ

    ตรงข้ามกับจิตร เขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่เน้นที่ปริมาณ แต่มุ่งที่คุณภาพ เมื่อต้องหาอะไรมาใส่ในห้องให้เต็ม เขาจึงนึกถึงแสงสว่างและกลิ่นหอม ซึ่งให้ความสุขและรื่นรมย์ใจแก่เจ้าบ้านและผู้มาเยือน

    มองให้ลึก เรื่องของไชยาและจิตร มิใช่อะไรอื่น หากคือภาพสะท้อนของผู้คนในโลกนี้ ห้องนั้นคืออุปมาของชีวิต ส่วนเงิน ๑ รูปีนั้นหมายถึงเวลาอันน้อยนิดที่เรามีอยู่ในโลกนี้ ผู้คนทั้งหลายปรารถนาที่จะเห็นชีวิตของตนได้รับการเติมเต็ม แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะเติมเต็มชีวิตของตนด้วยวัตถุ ดังนั้นจึงทุ่มเทเวลาทั้งหมดที่มีเพื่อแสวงหาเงินทองและสะสมทรัพย์สมบัติให้มากที่สุด คนเหล่านั้นรู้สึกว่าชีวิตตนจะมีคุณค่าได้ต่อเมื่อมีวัตถุประดับประดา ใช้รถหรูราคาแพง หรือใช้สินค้าแบรนด์เนม อย่างไรก็ตามบ่อยครั้งสิ่งที่หามานั้นมีสภาพไม่ต่างจากกองขยะ คือนอกจากไม่ได้ใช้แล้ว ยังรกบ้าน เป็นภาระแก่จิตใจ ยิ่งทรัพย์สมบัติที่ได้มาจากการคดโกงหรือการผิดศีลด้วยแล้ว ก็เป็นขยะดี ๆ นี้เอง เพราะเต็มไปด้วยโทษและส่งกลิ่นเหม็นประจานเจ้าของ

    แท้จริงแล้วมีสิ่งอื่นที่ดีกว่าที่ช่วยเติมเต็มชีวิตของเรา นั่นคือ บุญกุศล ความดีงาม รวมทั้งความสงบเย็นในจิตใจ อันเกิดจากคุณธรรมและความเข้าใจชีวิต ใครที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใจ จะไม่รู้สึกพร่อง กลับรู้สึกเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา คนแวดล้อมก็มีความสุข ตรงข้ามกับคนที่พรั่งพร้อมด้วยวัตถุ หากไร้สิ่งเหล่านี้ในจิตใจ จะรู้สึกพร่องอยู่ตลอดเวลา จึงดิ้นรนตักตวงไม่หยุดหย่อน แต่ได้เท่าไหร่ก็ไม่เคยรู้จักพอ ขณะเดียวกันคนแวดล้อมก็อยู่อย่างไม่เป็นสุข เพราะกลายเป็นที่ระบายความทุกข์ของคนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา

    เราทุกคนล้วนมีเวลาเพียงน้อยนิดในโลกนี้ เราไม่สามารถใช้เวลาทั้งหมดที่มีเพื่อหาวัตถุสิ่งเสพมาสนองความปรารถนาจนเต็มอิ่มได้ แต่เวลาน้อยนิดที่เรามีอยู่นั้นมากพอที่จะแสวงหาความดีงามมาเติมเต็มจิตใจจนอิ่มเอมได้

    :- https://visalo.org/article/secret255909.html
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    มองเป็น ก็เห็นสุข
    พระไพศาล วิสาโล
    ถ้าให้เลือกระหว่าง ก) มีเพื่อนรวย หรือมีฐานะดีกว่าคุณ ข) มีเพื่อนจน หรือมีฐานะต่ำกว่า คุณจะเลือกข้อไหน

    คนส่วนใหญ่คงเลือกข้อ ก) เพราะว่าเพื่อนรวยนั้นสามารถเป็นที่พึ่งพาได้เวลาเดือดร้อนเรื่องเงินทอง ไปไหนมาไหนกับเขาก็ได้รับความสะดวกสบาย อาจไม่ต้องควักเงินเลยด้วยซ้ำ บางคนให้เหตุผลว่ามีเพื่อนรวยทำให้รู้สึกโก้ มีหน้ามีตา

    อย่างไรก็ตาม การมีเพื่อนรวยนั้นก็มีข้อเสียอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นก็คือ อาจทำให้คุณเจ็บป่วยได้มากขึ้น ไม่นานมานี้นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโกได้สอบถามความเห็นและข้อมูลจากคนจำนวน ๓,๐๐๐ คน อายุระหว่าง ๕๗-๘๕ ปี โดยขอให้ทุกคนให้ประเมินสุขภาพของตนและระบุโรคประจำตัวของตน รวมทั้งจัดอันดับสถานะการเงินของตนเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนฝูง ครอบครัว เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมงาน

    ข้อสรุปที่พบก็คือ คนที่มีฐานะการเงินต่ำกว่าคนอื่น ๆ ที่ตนคบหาอยู่ด้วย มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหัวใจ มากกว่าคนที่มีฐานะดีกว่า ถึง ๒๒%

    ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลก็คือ คนที่คบเพื่อนรวยนั้น มักจะไม่มีความสุข เนื่องจากรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า จึงเกิดความเครียดซึ่งหากสะสมยืดเยื้อ ก็ทำให้เจ็บป่วยได้

    ความเจ็บป่วยนั้นไม่ได้เกิดจากความยากจนอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย หากรู้สึกว่าตัวเองมีเงินน้อยกว่า ฐานะต่ำกว่า ก็สามารถทำให้เป็นทุกข์จนล้มป่วยได้

    การเปรียบเทียบเป็นที่มาของความทุกข์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคนที่มีมากกว่า ดีกว่า สูงกว่าเรา ดังนั้นไม่ว่าจะมีมากเท่าไร คนส่วนใหญ่ก็ยังมีความทุกข์ ตราบใดที่เห็นคนอื่นมีมากกว่าตน แม้แต่เศรษฐีร้อยล้านก็ไม่มีความสุขหากเห็นเพื่อน ๆมีเงินนับพันล้าน

    หลายคนมักปรารถนาจะได้อะไรต่ออะไรมาก ๆ แต่ที่จริงแล้วการได้มามาก ๆ ไม่ทำให้เรามีความสุขเลย หากได้น้อยกว่าคนอื่น ในทางตรงข้าม แม้ได้น้อยแต่ถ้าได้มากกลับทำให้เรามีความสุขมากกว่า

    เคยมีการสอบถามผู้คนว่า จะเลือกข้อไหน ระหว่าง
    ก) ได้เงิน ๕,๐๐๐ แต่เพื่อนร่วมงานได้ ๓,๐๐๐
    ข) ได้เงิน ๑๐,๐๐๐ แต่เพื่อนร่วมงานได้ ๑๕,๐๐๐

    คนส่วนใหญ่เลือกข้อ ก) ทั้ง ๆ ที่ตัวเองได้แค่ครึ่งเดียวของข้อ ข) เหตุผลนั้นมีประการเดียวคือ ต้องการได้มากกว่าคนอื่น ส่วนจำนวนนั้นเป็นเรื่องรอง
    พูดอีกอย่างก็คือ สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ความสุขไม่ได้อยู่ที่ว่าตนมีเท่าไร แต่ขึ้นอยู่กับคนอื่นว่ามีเท่าไร ต่างหาก ตราบใดที่เขามีมากกว่าฉัน ฉันก็ไม่มีความสุข
     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,937
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    ความคิดเช่นนี้แหละเป็นที่มาของความทุกข์ของคนทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจะได้มากเท่าไร ก็ต้องมีคนอื่นที่ได้มากกว่าเราเสมอ ตราบใดที่เราไม่เลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น เราจะหาความสุขไม่ได้เลย แม้จะมีโชคได้แหวนเพชรเม็ดงามก็ยังทุกข์หากรู้ว่าคนอื่นได้เพชรเม็ดใหญ่กว่าหรือแพงกว่า มีรถราคาเป็นล้านก็ยังทุกข์เมื่อเห็นเพื่อนบ้านขับรถราคาแพงกว่า ได้เป็นผู้จัดการก็ยังทุกข์หากรู้ว่าเพื่อนร่วมรุ่นได้เป็นซีอีโอบริษัทใหญ่กว่า ได้คู่ครองที่ซื่อตรงก็ยังทุกข์เมื่อเห็นเพื่อนได้คู่ครองที่เอาอกเอาใจมากกว่า รูปร่างดีแต่ก็ยังเป็นทุกข์เพราะเห็นเพื่อน ๆ สวยกว่า ซื้อของได้ถูกกว่าก็ยังทุกข์เมื่อรู้ว่าคนอื่นซื้อได้ถูกกว่าเรา

    ตราบใดที่เรายังเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่เสมอ เราจะหาความสุขไม่ได้เลย ไม่ว่าร่ำรวยแค่ไหน ได้โชคได้ลาภเพียงใดก็ตาม

    แต่ทันทีที่เรารู้จักพอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ ความสุขจะบังเกิดขึ้นทันที แทนที่จะเฝ้ามองสมบัติของคนอื่นว่าดีกว่าอย่างไร เราลองหันมาชื่นชมสิ่งที่เรามี เห็นข้อดีหรือประโยชน์ของสิ่งที่มีอยู่ ความพอใจก็จะเกิดขึ้น ความรุ่มร้อนก็จะหายไป แทนที่จะเป็นทุกข์เพราะสิ่งที่เราไม่มี ทำไมไม่หาความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วในขณะนี้

    ถ้าวางใจได้อย่างนี้ แม้จะมีเพื่อนที่รวยกว่า เก่งกว่า ดังกว่า หรือสวยกว่า เราก็ไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีทั้งความรู้สึกด้อยหรืออิจฉา กลับรู้สึกยินดีมีมุทาจิตด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วเมื่อหันมาใส่ใจกับสิ่งที่เรามีอยู่ เราก็จะพบว่าเรายังมีสิ่งดี ๆ อีกมากมายที่น่าชื่นชม ซึ่งบางอย่างคนอื่นอาจไม่มีหรือมีไม่เท่าก็ได้ เช่น แม้จะมีเงินน้อยกว่า ตำแหน่งต่ำกว่า แต่เราก็มีสุขภาพดี มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชีวิตที่ราบรื่น เพียงเท่านี้ก็น่าจะมีความสุขแล้วไม่ใช่หรือ

    ความสุขมีอยู่กับเราอยู่แล้วทุกขณะ อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้น
    :- https://visalo.org/article/secret255405.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...