เรื่องเด่น เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๘

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 28 เมษายน 2025 at 17:25.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,564
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,727
    ค่าพลัง:
    +26,585
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันจันทร์ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๘


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,564
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,727
    ค่าพลัง:
    +26,585
    วันนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘ เป็นวันซ่อมสุขภาพของกระผม/อาตมภาพ เมื่อไปพบหมอแล้ว มีความรู้สึกว่า "ถ้าไม่มาหาหมอก็ไม่มีโรค พอมาหาหมอทีไรก็ได้โรคไปทุกที" พูดแบบนี้บางทีคุณหมออาจจะน้อยใจเอาก็ได้

    แต่ความจริงก็คือสภาพร่างกายของกระผม/อาตมภาพนั้น ชำรุดทรุดโทรมไปตามปกติของคนแก่ ระยะประมาณครึ่งปีที่ผ่านมา มีอาการเจ็บหัวไหล่ขวาและข้อศอกซ้ายค่อนข้างที่จะมาก ตอนแรกก็คิดว่าเป็นเพราะนอนผิดท่า หรือว่าเส้นเอ็นอักเสบ แต่ปรากฏว่าหมอพิจารณาแล้ว สั่งจ่ายน้ำมันปลา ๓ บวกมาให้ พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าที่คนอื่นเขากินแล้วมีคุณภาพ ๑ ส่วน ที่กระผม/อาตมภาพได้รับมาแต่ละเม็ด จะมีคุณภาพเหนือกว่าเขาอีก ๓ เท่า..!

    ตลอดจนกระทั่งแคลเซียมและวิตามินต่าง ๆ โดยที่บอกว่าร่างกายชำรุดทรุดโทรมมาก..ต้องเสริม ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะออกอาการเหมือนอย่างกับเครื่องยนต์เก่าเดินไม่เต็มสูบแบบนี้ หลังจากที่ฉันยาของคุณหมอลงไปประมาณไม่ถึง ๕ ชั่วโมง หัวไหล่ขวาที่เจ็บมากและไม่สามารถจะยกขึ้นสุดได้ กลายเป็นยกขึ้นได้ปกติ ตอนนี้ก็เหลือเพียงข้อศอกซ้ายเท่านั้น

    เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้ กระผม/อาตมภาพนั้นแอนตี้ยาบำรุงทุกชนิด โดยเฉพาะที่น้องจูน (นางสาวกฤติกา มาโนช) สมาชิกสภาเทศบาลทองผาภูมิ ที่เมตตาซื้อถวายให้แบบโน้นบ้าง แบบนี้บ้าง อย่างโน้นฉันแล้วดีอย่างนั้น อย่างนี้ฉันแล้วดีอย่างนั้น ตลอดจนกระทั่งที่ท่านอื่น ๆ ส่งมา มอบให้บรรดาพระและแม่ชีผู้ชราภายในวัดรับไปแทน..!

    เพราะกระผม/อาตมภาพนั้นมีความระแวงชนิดผู้ที่ไม่ประมาท ก็คือฉัน "ยาโด๊ป" มาก ๆ แล้ว จะไปคิดว่าตนเองแก่แล้วไม่ "คึก" ถ้าเกิด "คึก" ขึ้นมาจะอยู่ยาก ดังนั้น..จึงไม่เคยยุ่งเกี่ยวอะไรกับเรื่องที่เป็น "ยาโด๊ป" หรือว่ายาบำรุงเลย แม้กระทั่งในส่วนของพวกยาชูกำลังต่าง ๆ สารพัดยี่ห้อ กระผม/อาตมภาพก็ไม่ได้แตะต้อง รังนกที่คุณยายล้วน (นางล้วน หวลประไพ) ถวายให้ทุกวันที่ออกบิณฑบาต ก็รับมาแล้วมอบให้ส่วนกลางไปแบ่งสันปันส่วนกัน

    ทั้ง ๆ ที่ทุกคนหวังดีปรารถนาดี แต่กระผม/อาตมภาพที่เคยทรมานกับ รัก โลภ โกรธ หลง มาหลายปี เมื่อสามารถที่จะระงับ รัก โลภ โกรธ หลง ได้ อะไรที่อาจจะไปสะกิดให้ รัก โลภ โกรธ หลง กำเริบ จึงไม่พยายามไปแตะต้อง
    ในเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่รู้ว่าร่างกายคนแก่ชำรุดไปขนาดนี้แล้ว ในเมื่อหมอสั่งมาก็ต้องฉัน แต่ว่ายาตัวนี้น่าจะมีผลข้างเคียงทำให้อ้วนมาก เพราะว่าเป็นน้ำมันปลา แต่ละเม็ดเท่านิ้วชี้เห็นจะได้..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,564
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,727
    ค่าพลัง:
    +26,585
    กระผม/อาตมภาพจึงได้แต่ปลงอายุสังขารว่า ในเมื่อร่างกายจะต้องเปลี่ยนแปลง ก็คงต้องเปลี่ยนแปลง คล้าย ๆ กับพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ที่ก่อนหน้านี้ท่านก็มีรูปร่างผอมบาง คล้ายคลึงกับกระผม/อาตมภาพนี้เอง

    แต่ว่ามีอยู่วันหนึ่ง "ท่านย่า" มาสั่งให้ฉันหมูสามชั้นรวนเค็มทุกวัน จนกระทั่งร่างกายอ้วนใหญ่ขึ้นมา ท่านบอกว่า "ช่วงที่วาระกรรมส่งผล จะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยหนักมาก ถ้าหากว่าไม่อ้วน ก็ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะสู้โรคได้" พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านจึงต้องฉันอาหารและยาตามหมอสั่ง และตาม "ผู้ที่มองไม่เห็นตัว" สั่ง จนกระทั่งกลายเป็นอ้วนใหญ่อย่างที่เห็นอยู่ จนกระทั่งมรณภาพ..!

    กระผม/อาตมภาพไม่ได้กลัวอ้วน เพียงแต่ทราบว่าถ้าหากว่าอ้วน สารพัดโรคต่าง ๆ ก็จะตามมา ประกอบกับที่ตนเองนั้นทำงานมากกว่าอาหารที่ฉันลงไป จนป่านนี้แล้ว น้ำหนักตัวก็ยังอยู่ที่ ๖๑ - ๖๒ กิโลกรัม แล้วแต่ว่าช่วงนั้นป่วยมากป่วยน้อย ทั้ง ๆ ที่ความสูงของกระผม/อาตมภาพคือ ๑๗๒ เซ็นติเมตร น้ำหนักมาตรฐานจะต้องอยู่ที่ ๗๒ กิโลกรัม..!

    ในเมื่อหมอสั่ง ตาม "คิลาโนวาท" ที่หลวงปู่สมเด็จฯ วัดเทพศิรินทราวาส ก็คือพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร อดีตองค์สังฆนายกผู้ปกครองคณะสงฆ์ไทย ท่านได้ให้เอาไว้ว่า "บุคคลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องไม่ดื้อกับหมอ" ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงต้องรับยามา เพราะฉันไปแล้วเห็นว่าดีกับตัวเองจริง ๆ ไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องทนเจ็บอยู่ทุกวี่ทุกวัน..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,564
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,727
    ค่าพลัง:
    +26,585
    สำหรับวันนี้ มาว่ากล่าวถึงเรื่อง "เล่าความหลัง" กันต่อ เมื่อวานได้กล่าวถึงเรือข้าว เรือทราย ซึ่งใช้ในการบรรทุกข้าวเปลือก และบรรทุกทรายสำหรับการก่อสร้าง แม่น้ำสวนแตงในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ในช่วงที่กระผม/อาตมภาพเด็ก ๆ กว้างใหญ่มาก เพราะว่าต้องขุดลอกเพื่อให้เรือข้าววิ่งได้ เนื่องเพราะว่าสุพรรณบุรีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของประเทศไทย

    แต่ว่าในปัจจุบันนี้ตื้นเขินเสียจนแทบจะกระโดดข้ามได้อยู่แล้ว เพราะว่าเมื่อมีทางรถยนต์ และการรถยนต์ใช้ในการขนส่ง มีความคล่องตัวมากกว่า จึงทำให้บรรดาการขนส่งทางน้ำที่เชื่องช้า ไม่ทันใจ ค่อย ๆ หมดไป กลายเป็นการขนส่งทางบกโดยรถยนต์แทน

    การขนส่งทางน้ำนั้นเป็นการกำเนิดภาษิตคำว่า "ช้าเป็นเรือเกลือ" เนื่องเพราะวไม่ว่าจะเป็นเรือข้าว เรือทราย หรือว่าเรือเกลือนั้น บรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก กินน้ำลึกมาก แต่ลากจูงด้วยเรือโยงเล็ก ๆ เท่านั้น ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้ไปได้ช้า แล้วมาคิดถึงที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านเปรียบบุคคลบางประเภท ที่ฝึกกรรมฐานแล้วได้ยากได้เย็นหนักหนา ว่าเป็นการ "เข็นเรือทรายบนบก"..!

    เราท่านลองนึกดูว่าในน้ำยังไปช้าขนาดนั้น เพราะน้ำหนักมากมายมหาศาล แล้วไปเข็นบนบก โอกาสที่จะไปได้นั้นมีหรือไม่ ? ก็ต้องบอกว่าโบราณช่างเข้าใจเปรียบเทียบ อะไรที่เชื่องช้าไม่ทันใจ เขาก็จะใช้คำว่า "ช้าเป็นเรือเกลือ" ไปเลย

    อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการเดินทาง - การหากินทางน้ำนั้น แม้แต่วัดท่าขนุนสมัยก่อนก็ยังเป็นท่าน้ำสำหรับบุคคลขึ้นลง และมีต้นขนุนอยู่หลายต้น จนกระทั่งกระผม/อาตมภาพมาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ถึงได้ช่วยปรับปรุงศาลาท่าน้ำ ซึ่งมีป้ายวัดท่าขนุน หันเข้าหาแม่น้ำแควน้อยอยู่ กลายเป็นศาลเจ้าที่ ซึ่งปัจจุบันนี้ลูกปุ๊ก (นางสาวสุมาลี ตีรเลิศพานิช) อาศัยเป็นที่พักอยู่

    เพราะกระผม/อาตมภาพถือนโยบายที่หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงท่านบอกเอาไว้ ก็คือการสร้างศาลเป็นการเคารพต่อเทวดา เมื่ออัญเชิญท่านขึ้นศาลแล้วก็ให้ขออนุญาตท่านใช้งานศาลนั้นด้วย ดังนั้น..หลวงพ่อท่านจึงให้สร้างศาลอยู่ในลักษณะเป็นกุฏิหลังใหญ่ไปเลย แบ่งสันปันส่วนในเขตที่จะตั้งสิ่งแสดงออกซึ่งความเคารพต่อเจ้าที่ ส่วนที่เหลือ เราก็ได้ใช้งานตามปกติ ตัวศาลก็ไม่ทรุดโทรม การใช้ประโยชน์ก็จะได้มีมากขึ้นไป
    อีกด้วย
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,564
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,727
    ค่าพลัง:
    +26,585
    ในเรื่องของสิ่งของที่ใช้ในการทุ่นแรงการขนส่งต่าง ๆ นั้น แต่เดิมก็มี "เกวียน" เป็นหลัก ซึ่งต้องชื่นชมว่าบรรพบุรุษของเรานั้น ช่างคิดค้นสิ่งทุ่นแรงต่าง ๆ ขึ้นมาได้ และจัดสร้างขึ้นมาอย่างประณีตทีเดียว โดยเฉพาะเกวียนบางหลังนั้น มีการจักหวาย สานประทุนเกวียนกันแดดกันฝนเป็นอย่างดีอีกด้วย ดูแล้วน่าชื่นชมแทนเจ้าของเกวียนเป็นอย่างมาก และวัวเทียมเกวียนแต่ละตัว ก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เลี้ยงดูจนอ้วนท้วนสมบูรณ์ เหมาะสมที่จะใช้งาน

    เส้นทางไหนที่เป็นทางเกวียนของหมู่บ้าน หรือว่าทางเกวียนระหว่างตำบล ส่วนใหญ่แล้วถ้าเกวียนแล่นลงไปแล้วก็แปลว่าต้องวิ่งต่อไปยันสุดปลายทางเลย เนื่องเพราะว่าดินตรงนั้นโดนล้อเกวียนบดจนลึกเป็นศอก ทำให้ล้อเกวียนเมื่อลงไปแล้ว เท่ากับโดนบังคับให้อยู่กับที่ ไม่สามารถที่จะหลุดจากร่องได้ ต้องวิ่งไปเรื่อยเปื่อย ต่อให้เจ้าของไม่บังคับวัว วัวก็ไม่สามารถที่จะลากเกวียนออกนอกลู่นอกทางได้

    เครื่องทุ่นแรงอีกอย่างเรียกว่า "ระแทะ" เกวียนนั้นใช้เทียมด้วยวัวคู่ แต่ระแทะนี้ใช้เทียมด้วยวัวหรือควายตัวเดียว หรือที่กระผม/อาตมภาพเคยเห็นของต่างประเทศ เขาใช้เทียมล่อ หรือว่าเทียมด้วยม้าก็มี ระแทะนั้นจะมีคานยาวออกมาแล้วก็ผูกเอาไว้กับเชือก ในส่วนที่จะใช้สำหรับบังคับ ก็จะมีลักษณะเหมือนกับแอก สวมกับด้านหลังของวัวหรือว่าล่อนั้น แล้วก็มีผ้าหนา ๆ รองรับ มีเชือกผูกโยง เพื่อที่จะลากไปได้

    นอกจากเกวียนและระแทะแล้ว ภายหลังยังมี "รถสาลี่" ขึ้นมาด้วย ซึ่งก็คือรถสองล้อ ลักษณะทรงคล้ายเกวียนแต่เตี้ยมาก แล้วก็มีไม้ต่อยื่นออกมา พร้อมกับคานขวาง ให้เราใช้เข็นสิ่งของต่าง ๆ ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการบรรทุกน้ำ บรรทุกฟืน บรรทุกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ บางแห่งเรียกว่า "รถยู้" ก็คือรถสำหรับเข็นของ แต่ว่าบางแห่งเรียกว่า "รถสาลี่" แล้วส่วนใหญ่ก็ได้ยินว่ารถสาลี่กันทั้งนั้น มีผู้รู้สันนิษฐานว่ามาจากภาษาอังกฤษว่า Trolley ก็คือรถเข็นนั่นเอง
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    21,564
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,727
    ค่าพลัง:
    +26,585
    กระผม/อาตมภาพก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เนื่องจากสมัยก่อนนั้น พวกเราเห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาของผู้เจริญแล้ว ดังนั้น..ในสมัยของรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ จึงมีการใช้ภาษาอังกฤษทับศัพท์หลายสิ่งหลายอย่างที่ยังไม่มีในเมืองไทย แต่ว่ามาเรียกตามแบบลิ้นของคนไทย

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น คำว่า "โทรเลข" ซึ่งภาษาอังกฤษว่า Telegraph มาถึงเมืองไทยก็เลยกลายเป็น "ตะแล็ปแก๊ป" เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น..ถ้าหากว่ารถเข็น Trolley กลายเป็นรถสาลี่ ก็น่าจะพอฟังขึ้น ในภายหลังสิ่งทุ่นแรงต่าง ๆ เหล่านี้มีการใช้น้อยลง จนแทบจะต้อง "ยกขึ้นหิ้ง" หรือ เข้าพิพิธภัณฑ์ คนรุ่นหลังถึงจะได้ดูได้เห็นกัน

    โดยเฉพาะเมื่อมาใช้รถยนต์แล้ว หลายท่านคงไม่ทราบว่าคนไทยเคยสร้างรถของตนเอง ซึ่งมีอยู่สองยี่ห้อด้วยกัน ยี่ห้อแรกเรียกว่า "รถสิงห์สยาม" ยี่ห้อที่สองเรียกว่า "รถพลายน้อย" ซึ่งสิงห์และพลายก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นช้างและสิงห์ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็น่าที่จะสามารถทำให้คนนิยมได้

    แต่เนื่องจากว่าฝีมือการสร้างใหม่ ๆ นั้น รถออกมาลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมมากกว่า..! จึงทำให้ไม่ได้รับความนิยม ใช้อยู่ไม่นานก็สูญหายไปเฉย ๆ แม้แต่ยุคหลังของเราก็มีรถกระบะที่สร้างขึ้นมา ในลักษณะแข่งขันกับพวกรถกระบะสายหลัก ชื่อว่า VMC ซึ่งอยู่ในระยะที่ไม่นานมานี้เอง ถ้าค้นหาข้อมูลก็น่าพอจะมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยม ท้ายที่สุดก็สูญหายไปจากยุทธจักรอีกเช่นกัน..!

    ดังนั้น..ในเรื่องของบรรดาเรื่องทุ่นแรงต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษของเราสร้างเอาไว้ จนกลายเป็นภูมิปัญญาที่เหมาะสมกับพื้นบ้านหรือว่าท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรือ เป็นเกวียน เป็นระแทะ เป็นรถเข็น ปัจจุบันนี้แทบจะไม่เห็นใครเขาใช้งานกันอีกแล้ว ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า "สัพเพ สังขารา อนิจจา สรรพสิ่งทั้งหลายนั้นหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้" อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้จริง ๆ ก็คือ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันจันทร์ที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๘
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...